วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556

4 สิงหาคม วันสื่อสารแห่งชาติ

"การสื่อสาร" คือ กระบวนการสำหรับแลกเปลี่ยนสาร ที่มีความสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน เพราะคนเราทุกคนต้องสื่อสาร ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของท่าทาง สัญลักษณ์ หรืออยู่ในรูปแบบของภาษา... ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ได้ทรงพระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มีใจความว่า

          "การสื่อสารเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ในการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า รวมทั้งรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศด้วย ยิ่งในสมัยปัจจุบัน ที่สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ย่อมมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ ทุกฝ่ายและทุกหน่ายงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารของประเทศ จึงควรจะได้ร่วมมือกันดำเนินงานและประสานผลงานกันอย่างใกล้ชิดและสอดคล้อง สำคัญที่สุด ควรจะได้พยายามศึกษาค้นคว้าวิชาการและเทคโนโลยี อันทันสมัยให้ลึกและกว้างขวาง แล้วพิจารณาเลือกเฟ้นส่วนที่ดี มีประสิทธิภาพแน่นอนมาปรับปรุงใช้ด้วยความฉลาดริเริ่ม ให้พอเหมาะพอสมกับฐานะและสภาพบ้านเมืองของเรา เพื่อให้กิจการสื่อสารของชาติได้พัฒนาอย่างเต็มที่ และสามารถอำนวยประโยชน์แก่การสร้างเสริมเศรษฐกิจ สังคม และเสถียรภาพของบ้านเมืองได้อย่างสมบูรณ์แท้จริง"

           ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปี เป็น "วันสื่อสารแห่งชาติ" โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารจะมีการจัดงานและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น การจัดทำดวงตราไปรษณียากรที่ระลึกวันสื่อสารแห่งประเทศไทย การจัดนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม ฯลฯ และวันนี้เรามีเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับ "วันสื่อสารแห่งชาติ" มาฝากเพื่อน ๆ กันด้วย...
          ตามประวัติความเป็นมาของวันสื่อสารแห่งชาติ ขอย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2526 คณะกรรมการจัดงานปีการสื่อสารโลก ได้พิจารณาเห็นว่าวันที่ 4 สิงหาคม 2426 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา "กรมไปรษณีย์" และ "กรมโทรเลข" ขึ้นในประเทศไทย


          ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของกิจการสื่อสารของประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นอธิบดีผู้สำเร็จราชการทั้งกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขเป็นพระองค์แรก เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงมีแก่กิจการไปรษณีย์ไทย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2526 กำหนดให้ วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีเป็น "วันสื่อสารแห่งชาติ" และจัดงาน "วันสื่อสารแห่งชาติ" ครั้งแรกได้จัดในปี พ.ศ.2526 โดยจัดร่วมกับงาน "ครบรอบ 100 ปี ของการสถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลข" และการเฉลิมฉลอง "ปีการสื่อสารโลก" ของสหประชาชาติด้วย

          ส่วนในปัจจุบัน เทคโนโลยีด้านการสื่อสารได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และบทบาทของภาคเอกชนมีมากขึ้นรวมทั้งการแข่งขัน ในกิจการสื่อสารทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ได้ทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ความได้เปรียบในเรื่องเศรษฐกิจของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ขึ้นอยู่กับการมีระบบการสื่อสารให้เจริญก้าวหน้า ทัดเทียมกับประเทศอื่น คณะรัฐมนตรีได้ตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของการสื่อสารดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้มีการจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี (ยกเว้นปี พ.ศ. 2533 คณะกรรมการจัดงานวันสื่อสาร แห่งชาติได้มีมติให้งดการจัดแสดงนิทรรศการ คงมีแต่เฉพาะงานพิธีและการประชุมทางวิชาการเรื่องเทคโนโลยีพื้นฐานและการวางแผนระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม) และในการจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติแต่ละปี จะเน้นหัวข้อการจัดงานแตกต่างกันไปทุกปี
         

พัฒนาการของการสื่อสารข้อมูล

การสื่อสารในประเทศไทย
          นอกจากพิราบสื่อสารและม้าเร็วแล้ว การสื่อสารเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ช่วงที่บ้านเมืองปลอดจากภัยสงคราม การเมืองภายในประเทศมีเสถียรภาพมั่นคง โดยวัตถุประสงค์ของการสื่อสารในยุคนั้น ก็เพื่อนำมาสนับสนุนกิจการด้านงานความมั่นคงของประเทศ ซึ่งยุคนั้นเรียกได้ว่า เป็นยุคเริ่มล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ต่างแย่งชิงผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้ด้วยกัน และอารยะธรรมตะวันตกเริ่มหลั่งไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ 


ต่อมาในยุคพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) การสื่อสารได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับราชสำนัก และเกิดพัฒนาสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีกับประเทศมหาอำนาจ จนทำให้ประเทศรอดพ้นจากการถูกคุกคามจากมหาอำนาจตะวันตกหลายครา รวมทั้งการสื่อสารสามารถทำให้รับเอาวิทยาการใหม่ๆ มาปรับปรุงพัฒนาประเทศในเวลาต่อมา
         จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงเจริญรอยตามพระราชบิดาในการปฏิรูปประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มหากษัตริย์ผู้วางรากฐานกิจการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทย พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการสื่อสารว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ และเพื่อบำบัดทุกข์ราษฎรในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนสนับสนุนงานด้านความมั่นคงของชาติด้วยประการหนึ่ง แรกทีเดียวนั้นการสื่อสารอยู่ในรูปไปรษณีย์พิเศษ ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในบบพระบรมมหาราชวัง และเขตบบพระนครชั้นใน โดย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ และเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2424 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ เป็นผู้ก่อตั้งการไปรษณีย์ 
จนในที่สุดการสื่อสารของระบบไทย โดยระบบไปรษณีย์ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็น “กรมไปรษณีย์” อย่างเป็นทางการขึ้น ในวันที่ 4 สิงหาคม 2426 โดยมีที่ทำการไปรสะนียาคารแห่งแรก ที่ ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลราชบูรณะ และอาคารในพระราชอุทยานสราญรมย์ 
         
ขณะนั้นได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีระบบโทรคมนาคมเข้ามา นั่นคือ กิจการโทรเลข ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีโทรคมนาคมอันทันสมัยรวดเร็วที่สุดในยุคนั้น เดิมทีกิจการโทรเลขอยู่ในความดูแลของกลาโหม และมีพัฒนาการต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการวางสายโทรเลขเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. 2418 กรุงเทพฯ ไป สมุทรปราการ เพื่อใช้ในงานราชการ จนกระทั่งได้เปิดให้มีบริการสำหรับประชาชนเป็นครั้งแรก เมื่อ 16 กรกฎาคม 2426 โดยมีอัตราค่าบริการ “คำละ 1 เฟื้อง” จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นเป็น “กรมโทรเลข” อีกกรมหนึ่ง และมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการกรมโทรเลขอีกตำแหน่งหนึ่ง จากนั้นกลาโหมได้เริ่มมีการนำโทรศัพท์เข้ามาและมอบให้กรมโทรเลขดูแลต่อ

  เมื่อเกิดทิศทางในการรวมการสื่อสารของชาติมาอยู่ที่เดียวกันจึงเกิดการพัฒนามากมายอย่างรวดเร็วตามมา เช่น มีการนำรถไฟมาสนับสนุนกิจการไปรษณีย์ ก็เกิดเป็นการรถไฟตามมา มีการนำเครื่องบินมาสนับสนุนการไปรษณีย์ที่เรียกว่า รอยัลเมลล์ ก็เกิดมีการบินขึ้นต่อมา การไปรษณีย์และโทรเลขมีการขยายบริการไปทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของชาติในการสื่อสารไปยังต่างประเทศทั่วโลก ภารกิจของกรมไปรษณีย์โทรเลข มีมากมายขึ้น ถือได้ว่าเป็นราชการกรมแห่งแรกในประเทศก็กล่าวได้ จนเกิดงานสาธารณะอันสำคัญของประเทศให้รับผิดชอบขึ้นมากมาย ทั้งงานบริการโทรคมนาคม กิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการออมสิน กิจการวิทยุการบิน กิจการโทรศัพท์ซึ่งภายหลังได้แยกออกไป
  จนกระทั่งปัจจุบันสืบเนื่องจากเจตนารมณ์ตามมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ต้องการให้มีองค์กรอิสระปราศจากการแทรกแซงจากรัฐ เข้ามาทำหน้าที่บริหารทรัพยากรคลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์ของสาธารณะและกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม อย่างแท้จริง จึงได้เกิดการตราพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ขึ้นมา ตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญฯ ฉบับดังกล่าว ส่งผลให้มีการประกาศให้ยุบกรมไปรษณีย์โทรเลข และจัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)” ขึ้นมาทำหน้าที่บริหารทรัพยากรโทรคมนาคมของชาติ และกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม ดังที่ทราบกันดีในปัจจุบัน

ด้านงานสื่อสารโทรคมนาคม

     จากการปฏิรูปการกำกับดูแลและบริหารกิจการสื่อสารโทรคมนาคมของชาติโดยภาคประชาชนในครั้งนั้นเอง ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงจากรัฐทั้งอำนาจบริหารและงบประมาณ ทำหน้าที่กำกับดูแล (Regulator) กิจการโทรคมนาคมของประเทศ และกล่าวได้ว่ายังเป็นองค์กรอิสระเพียงแห่งเดียวที่ไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ทำให้ กทช. ยังคงยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคงแม้จะถูกกระบวนการสร้างข่าวลบจากผู้เสียประโยชน์จากการสร้างความเป็นธรรมก็ตาม หรือแม้แต่การตั้งกระทรวงแห่งหนึ่งเพื่อแทรกแซงกิจการโทรคมนาคมของบางรัฐบาลก็ตาม แต่ประชาชนทั่วไปล้วนประจักษ์ดี
      
       กทช. นอกจากถือเป็นองค์กรที่สืบสานพระราชปณิธานจากพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ในราชวงศ์จักรี พระมหากษัตริย์ที่ทรงรักพสกนิกรของพระองค์อย่างยิ่ง และเกี่ยวข้องในการนำการโทรคมนาคมเข้าบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร สนับสนุนการพัฒนาบ้านเมืองในทุกด้าน และสนับสนุนงานความมั่นคงของชาติ แม้คนในวงการโทรคมนาคมมักพูดถึงแต่เรื่องธุรกิจเรื่องการผลักดันให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมในกิจการโทรคมนาคมก็ตาม แต่ควรช่วยกันมองหาหนทางในการประยุกต์การโทรคมนาคมเพื่อพัฒนาบ้านเมือง และเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น