วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การดูแลรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลัง


ปัจจุบันผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลัง ทำให้เกิดภาวะอัมพาตของขา 2 ข้าง  หรือทั้งขาและแขนมีมากขึ้น
นับเป็นปัญหาซึ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ  เนื่องจากสาเหตุของการเกิดบาดเจ็บไขสันหลังมักเกิดจากอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ ์ รถยนต์ ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ  จากการตกจากที่สูง  ถูกยิง  ถูกแทง ของหนักตกทับ หรือสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคของไขสันหลัง เยื่อหุ้มไขสันหลัง หรือหลอดเลือดของไขสันหลังผู้ป่วยจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นชายมากกว่าหญิงประมาณ 2.4 ถึง 4 เท่า  และอายุมักอยู่ในช่วงระหว่าง 24 ถึง 44 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงาน ทำให้เกิดการสูญเสียเป็นอย่างมาก 


ดังนั้นความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและการฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะทำให้
ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี


การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังจากอุบัติเหตุ จุดประสงค์ คือ 


ก. ช่วยเหลือชีวิต

ข. ป้องกันอันตรายต่อกระดูกสันหลังและไขสันหลังมิให้เกิดมากขึ้น

ค. ป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในขณะขนย้ายผู้ป่วย
     

ข้อควรปฏิบัติแก่ผู้ป่วย
   

1. เตือนผู้ป่วยมิให้ขยับเขยื้อนหรือเคลื่อนย้ายตัวเอง ยกเว้นในกรณีที่ต้องรีบออกจากที่เกิดเหตุ ซึ่งมีอันตรายไม่ปลอดภัย และอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
   

2. หาวัสดุหรืออุปกรณ์ เช่น ไม้กระดานมาตามตัวผู้ป่วยตั้งแต่ศีรษะจนถึงหลังหรือใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ผ้าหนาๆม้วนพันตามรอบคอก่อนที่จะย้ายตัวผู้ป่วยออกจากที่เกิดเหตุ
   

 3. ต้องพลิกตัวผู้ป่วยเป็นท่อน ให้ศีรษะและลำตัวเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน
   

 4. ต้องยกผู้ป่วยแบบท่อนซุง โดยอาศัยคนยกอย่างน้อย 3 คน   ถ้ามีไม้กระดานหรือแปลรองจะทำให้การยกและย้ายผู้ป่วยสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น
   

5. พยายามรักษาแนวของกระดูกสันหลังให้ปกติตามที่ควรจะเป็น ถ้ามีกระดูกคอหักให้ใช้หมอนทรายหรือของหนักๆ วางขนาบข้างศีรษะ
   

 6. ถ้าผู้ป่วยหายใจไม่สะดวกในท่านอนหงายอาจพลิกผู้ป่วยให้อยู่ในท่านอนตะแคง และถ้ามีออกซิเจน
         ก็ควรให้ผู้ป่วยสูดทางจมูก
  

 7. เฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วยด้วยการจับชีพจร ตรวจการหายใจ และวัดความดันโลหิต
   


 8. นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยมีกระดูกสันหลังหักเคลื่อนหรือไม่ ให้ถือเสมอว่าผู้ป่วยอุบัติเหตุทุกรายได้รับบาดเจ็บ
ที่กระดูกสันหลังและไขสันหลังร่วมด้วย
เมื่อผู้ป่วยผ่านการรักษาเพื่อช่วยเหลือชีวิตในขั้นต้น และแก้ไขสาเหตุที่ทำให้ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บหรือ
ทำให้ไขสันหลังมีพยาธิสภาพน้อยที่สุดแล้ว ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะมีภาวะอัมพาตของขา 2 ข้างหรือทั้งขาและ
แขน 2 ข้าง ซึ่งมีมากน้อย ขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพที่ไขสันหลัง



การฟื้นฟูผู้ป่วย 

ผู้ป่วยควรจะได้รับการฟื้นฟูสภาพความพิการนั้นโดยทีมงานเวชศาสต์ฟื้นฟู เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่สภาพ
ใกล้เคียงปกติ ช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด สามารถกลับไปมีชีวิตอยู่ในสังคมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ซึ่งทีมงานเวชศาสตร์ฟื้นฟูประกอบด้วยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด
นักกายอุปกรณ์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งจะทำงานประสานกันเป็นทีมโดยมีหลักการ
ทั่วไปคือ

- ดูแลป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น

- ฝึกการขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ

- ฝึกการหายใจและการไอ

- ฝึกการทรงตัว ยืน หรือเดิน ใช้อุปกรณ์เสริมดามขา หรืออุปกรณ์ประคองมือต่างๆเพื่อให้ผู้ป่วยประกอบกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน รับประทานอาหาร เขียนหนังสือ ทำครัวได้

- แนะนำหรือดัดแปลงอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านให้เหมาะสมกับความพิการในแต่ละราย

- การประสานงานเพื่อฝึกอาชีพให้ผู้ป่วย 

ปัจจุบันกีฬานับเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้น โดยกีฬาช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ความคล่องตัวของข้อ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและปอด เป็นตัวชักนำให้ผู้ที่สนใจและเล่นกีฬาเข้าสู่สังคม ให้ความเพลิดเพลิน และให้ความภาคภูมิใจต่อความสามารถของตนที่มีอยู่ ซึ่งการแข่งขันกีฬาคนพิการในระดับนานาชาติ เช่น Paralympic games, Fespics games คนพิการที่ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งประสบความสำเร็จและนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เป็นระยะๆ และเมื่อมีอาการต่อไปนี้ควรมาพบ
แพทย์ก่อนคือ

 - ไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่น
 - มีแผลกดทับ
 - อ่อนแรงของขาและแขนมากขึ้น
 - ชา ปวด เมื่อไอหรือจาม
 - เกร็งมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น