วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วันมาฆบูชา

images[1]
            วันมาฆบูชาเป็นวันที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทสำคัญอันถือได้ว่าเป็นหัวใจของคำสอนในพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาฏิโมกข์ ในวันเพ็ญ (ขึ้น 15ค่ำ) เดือนสาม ดวงจันทร์โคจรมาเสวยมาฆฤกษ์ แต่ถ้าปีใดมี อธิกมาส คือ เดือนแปดสองแปด วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันเพ็ญกลางเดือนสี่ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นที่ พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ รัฐมคธ ในปีแรกของการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ คือ หลังจากตรัสรู้แล้วได้ 9 เดือน 
          
  ความประจวบกันพอดีของเหตุการณ์ในวันนี้ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่อัศจรรย์ มีสี่ประการคือ
            ประการแรก  เป็นการมาชุมนุมกันของพระสงฆ์สาวก จำนวน 1,250 รูป เพื่อเฝ้าพระบรมศาสดา โดยมิได้นัดหมาย
            ประการที่สอง  พระสงฆ์สาวกดังกล่าวล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
            ประการที่สาม  พระสงฆ์สาวกดังกล่าวล้วนแต่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา
            ประการที่สี่   วันนั้นดวงจันทร์เพ็ญเสวยมาฆฤกษ์เต็มบริบูรณ์
            ความพร้อมกันขององค์สี่ประการจึงเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต
            โอวาทปาฏิโมกข์  ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นการประมวลคำสอนหลักของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระสงฆ์สาวกนำไปประพฤติปฏิบัติ และนำไปสั่งสองผู้อื่นในแนวทางเดียวกัน คือ
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
ขันตี คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง 
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย 
สมโณ โหติ ปรํ วิเหธยนฺโต
ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย 
สพฺพปาปสฺส  อกรณํ
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
กุสลสฺสุปสมฺปทา
การทำความดีให้ถึงพร้อม
สจิตฺต ปริโยทปนํ
การทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์ 
เอตํ พุทฺธานสาสนํ
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา 
อนูปวาโท อนูปฆาโต
การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย 
ปาติโมกฺเข จ สํวโร
การสำรวมในปาติโมกข์ 
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ
ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค 
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด 
อธิ จิตฺเต จ อาโยโค
ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง 
เอตํ พุทฺธานสาสนนฺติ
นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
            มีข้อความในโอวาทปาฏิโมกข์ที่อาจจะจำเพาะเจาะจงสำหรับนักบวชหรือบรรพชิต และบางข้อก็นำไปประพฤติปฏิบัติได้ทั้งบรรพชิตและผู้ครองเรือน อย่างไรก็ตามข้อความในโอวาทปาฏิโมกข์ก็ได้แสดงถึง จุดหมายสูงสุด แห่งพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพานดังนั้นพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า จึงควรศึกษาพระโอวาทปาฏิโมกข์ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ ตามฐานะและกำลังความสามารถของตน จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง
            ในวันนี้พุทธศาสนิกชนก็จะไปประกอบศาสนกิจ เพื่อน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เช่นเดียวกับที่ประพฤติปฏิบัติในวันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา คือ นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปนมัสการปูชนียวัตถุที่สำคัญ อันได้แก่  พระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฏิมาเป็นต้น และฟังพระธรรมเทศนาการแสดงธรรมในวันนี้ จะแสดงธรรมในเรื่องพระโอวาทปาฏิโมกข์

 imagesCAPUV4OJ

วันมาฆบูชาขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3ความหมายวันมาฆบูชา         วันมาฆบูชาหมายถึง การบูชา ในวันเพ็ญเดือน ๓ เนื่องในโอกาสคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์
ความสำคัญวันมาฆบูชา
         วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ มีเหตุการณ์อัศจรรย์ที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกันพระสงฆ์ ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ 
ผู้ได้อภิญญา ๖และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า ในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติที่ นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหา โดยสรุปคือให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดี ให้ถึงพร้อมและทำจิตใจให้ผ่องใส
ประวัติความเป็นมาวันมาฆบูชา
         ๑. ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๙ เดือนขณะนั้นเมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะหรือเดือน ๓ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า มาประชุม พร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า นับเป็นเหตุอัศจรรย์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ เรียกว่าว่า วันจาตุรงคสันนิบาต
คำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ
  • "จาตุร" แปลว่า ๔
  • "องค์" แปลว่า ส่วน
  • "สันนิบาต" แปลว่า ประชุม
ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ ๔" กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ
  1. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหาร
    ในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
  2. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจาก
    พระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
  3. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆองค์
  4. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ
มูลเหตุ หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และได้ทรงประกาศพระศาสนาและส่งพระอรหันตสาวกออกไปจาริกเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนายังสถานที่ต่าง ๆ ล่วงแล้วได้ 9 เดือน ในวันที่ใกล้พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้นต่างได้ระลึกว่า วันนี้เป็นวันสำคัญของศาสนาพราหมณ์ อันเป็นศาสนาของตนอยู่เดิม ก่อนที่จะหันมานับถือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า และในลัทธิศาสนาเดิมนั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือนมาฆะ เหล่าผู้ศรัทธาพราหมณลัทธินิยมนับถือกันว่าวันนี้เป็นวันศิวาราตรี โดยจะทำการบูชาพระศิวะด้วยการลอยบาปหรือล้างบาปด้วยน้ำ แต่มาบัดนี้ตนได้เลิกลัทธิเดิมหันมานับถือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงควรเดินทางไปเข้าเฝ้าบูชาฟังพระสัทธรรมจากพระพุทธเจ้า พระอรหันต์เหล่านั้นซึ่งเคยปฏิบัติศิวาราตรีอยู่เดิม จึงพร้อมใจกันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย
มีผู้กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสาวกทั้ง 1,250 องค์มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย มาจากในวันเพ็ญเดือน 3 ตามคติพราหมณ์ เป็นวันพิธีศิวาราตรี พระสาวกเหล่านั้นซึ่งเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนจึงได้เปลี่ยนจากการรวมตัวกันทำพิธีชำระบาปตามพิธีพราหมณ์ มารวมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน
โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (ถรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา), คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน)
สพฺพปาปสฺส อกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํเอตํ พุทธาน สาสนํฯ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ แปล : การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การบำเพ็ญแต่ความดี ๑ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต,ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะการไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งนอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส
สถานที่สำคัญเนื่องด้วยวันมาฆบูชา (พุทธสังเวชนียสถาน) พระพุทธรูปยืนกลางมณฑลมหาสังฆสันนิบาต ในโบราณสถานวัดเวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์ รัฐพิหาร อินเดีย (เป็นพระพุทธรูปสร้างใหม่ ปัจจุบันเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก)เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันมาฆบูชา เกิดภายในบริเวณที่ตั้งของ "กลุ่มพุทธสถานโบราณวัดเวฬุวันมหาวิหาร" ภายในอาณาบริเวณของวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งลานจาตุรงคสันนิบาตอันเป็นจุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชานั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงและหาข้อสรุปทางโบราณคดีไม่ได้มาจนถึงปัจจุบัน
imagesCAWAOF4M
วัดเวฬุวันมหาวิหาร "วัดเวฬุวันมหาวิหาร" เป็นอาราม (วัด) แห่งแรกในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาเวภารบรรพต บนริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดีซึ่งมีตโปธาราม (บ่อน้ำร้อนโบราณ) คั่นอยู่ระหว่างกลาง นอกเขตกำแพงเมืองเก่าราชคฤห์ (อดีตเมืองหลวงของแคว้นมคธ) รัฐพิหาร ประเทศอินเดียในปัจจุบัน (หรือ แคว้นมคธ ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล)
วัดเวฬุวันในสมัยพุทธกาล เดิมวัดเวฬุวันเป็นพระราชอุทยานสำหรับเสด็จพระพาสของพระเจ้าพิมพิสาร เป็นสวนป่าไผ่ร่มรื่นมีรั้วรอบและกำแพงเข้าออก เวฬุวันมีอีกชื่อหนึ่งปรากฏในพระสูตรว่า "พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน"หรือ "เวฬุวันกลันทกนิวาป" (สวนป่าไผ่สถานที่สำหรับให้เหยื่อแก่กระแต) พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายพระราชอุทยานแห่งนี้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาหลังจากได้สดับพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถาและจตุราริยสัจจ์ ณ พระราชอุทยานลัฏฐิวัน (พระราชอุทยานสวนตาลหนุ่ม) โดยในครั้งนั้นพระองค์ได้บรรลุพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา และหลังจากการถวายกลันทกนิวาปสถานไม่นาน อารามแห่งนี้ก็ได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระสงฆ์ประชุมจาตุรงคสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา อันเป็นเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา
วัดเวฬุวันหลังการปรินิพพาน หลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน วัดเวฬุวันได้รับการดูแลมาตลอด โดยเฉพาะมูลคันธกุฎีที่มีพระสงฆ์เฝ้าดูแลทำการปัดกวาดเช็ดถูปูลาดอาสนะและปฏิบัติต่อสถานที่ ๆ พระพุทธเจ้าเคยประทับอยู่ทุก ๆ แห่ง เหมือนสมัยที่พระพุทธองค์ทรงพระชนมชีพอยู่มิได้ขาด โดยมีการปฏิบัติเช่นนี้ติดต่อกันกว่าพันปี
แต่จากเหตุการณ์ย้ายเมืองหลวงแห่งแคว้นมคธหลายครั้งในช่วง พ.ศ. 70 ที่เริ่มจากอำมาตย์และราษฎรพร้อมใจกันถอดกษัตริย์นาคทัสสก์แห่งราชวงศ์ของพระเจ้าพิมพิสารออกจากพระราชบัลลังก์ และยกสุสูนาคอำมาตย์ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าลิจฉวีในกรุงเวสาลีแห่งแคว้นวัชชีเก่า ให้เป็นกษัตริย์ตั้งราชวงศ์ใหม่แล้ว พระเจ้าสุสูนาคจึงได้ทำการย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธไปยังเมืองเวสาลีอันเป็นเมืองเดิมของตน และกษัตริย์พระองค์ต่อมาคือพระเจ้ากาลาโศกราช ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุสูนาค ได้ย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธอีก จากเมืองเวสาลีไปยังเมืองปาตลีบุตร ทำให้เมืองราชคฤห์ถูกลดความสำคัญลงและถูกทิ้งร้าง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วัดเวฬุวันขาดผู้อุปถัมภ์และถูกทิ้งร้างอย่างสิ้นเชิงในช่วงพันปีถัดมา
โดยปรากฏหลักฐานบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) ที่ได้เข้ามาสืบศาสนาในพุทธภูมิในช่วงปี พ.ศ. 942 - 947 ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ ๒ (พระเจ้าวิกรมาทิตย์) แห่งราชวงศ์คุปตะ ซึ่งท่านได้บันทึกไว้ว่า เมืองราชคฤห์อยู่ในสภาพปรักหักพัง แต่ยังทันได้เห็นมูลคันธกุฎีวัดเวฬุวันปรากฏอยู่ และยังคงมีพระภิกษุหลายรูปช่วยกันดูแลรักษาปัดกวาดอยู่เป็นประจำ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกถึงสถานที่เกิดเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตแต่ประการใด
แต่หลังจากนั้นประมาณ 200 ปี วัดเวฬุวันก็ถูกทิ้งร้างไป ตามบันทึกของพระถังซำจั๋ง (Chinese traveler Hiuen-Tsang) ​ซึ่งได้จาริกมาเมืองราชคฤห์ราวปี พ.ศ. 1300 ซึ่งท่านบันทึกไว้แต่เพียงว่า ท่านได้เห็นแต่เพียงซากมูลคันธกุฎีซึ่งมีกำแพงและอิฐล้อมรอบอยู่เท่านั้น (ในสมัยนั้นเมืองราชคฤห์โรยราถึงที่สุดแล้ว พระถังซำจั๋งได้แต่เพียงจดตำแหน่งที่ตั้งทิศทางระยะทางของสถูปและโบราณสถานเก่าแก่อื่น ๆ ในเมืองราชคฤห์ไว้มาก ทำให้เป็นประโยชน์แก่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีในการค้นหาโบราณสถานต่าง ๆ ในเมืองราชคฤห์ในปัจจุบัน)
จุดแสวงบุญและสภาพของวัดเวฬุวันในปัจจุบัน ปัจจุบันหลังถูกทอดทิ้งเป็นเวลากว่าพันปี และได้รับการบูรณะโดยกองโบราณคดีอินเดียในช่วงที่อินเดียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ วัดเวฬุวัน ยังคงมีเนินดินโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขุดค้นอีกมาก สถานที่สำคัญ ๆ ที่พุทธศาสนิกชนในปัจจุบันนิยมไปนมัสการคือ "พระมูลคันธกุฎี" ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ทำการขุดค้น เนื่องจากมีกุโบร์ของชาวมุสลิมสร้างทับไว้ข้างบนเนินดิน, "สระกลันทกนิวาป" ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้ทำการบูรณะใหม่อย่างสวยงาม, และ "ลานจาตุรงคสันนิบาต" อันเป็นลานเล็ก ๆ มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่กลางซุ้ม ลานนี้เป็นจุดสำคัญที่ชาวพุทธนิยมมาทำการเวียนเทียนสักการะ (ลานนี้เป็นลานที่กองโบราณคดีอินเดียสันนิษฐานว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในจุดนี้)
จุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา (ลานจาตุรงคสันนิบาต) ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตจะเป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งที่เกิดในบริเวณวัดเวฬุวันมหาวิหาร แต่ทว่าไม่ปรากฏรายละเอียดในบันทึกของสมณทูตชาวจีนและในพระไตรปิฎกแต่อย่างใดว่าเหตุการณ์ใหญ่นี้เกิดขึ้น ณ จุดใดของวัดเวฬุวัน รวมทั้งจากการขุดค้นทางโบราณคดีก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการทำเครื่องหมาย (เสาหิน) หรือสถูประบุสถานที่ประชุมจาตุรงคสันนิบาตไว้แต่อย่างใด (ตามปกติแล้วบริเวณที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา มักจะพบสถูปโบราณหรือเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างหรือปักไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายสำคัญสำหรับผู้แสวงบุญ) ทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถทราบโดยแน่ชัดว่าเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตเกิดขึ้นในจุดใดของวัด
ในปัจจุบันกองโบราณคดีอินเดียได้แต่เพียงสันนิษฐานว่า "เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในบริเวณลานด้านทิศตะวันตกของสระกลันทกนิวาป" (โดยสันนิษฐานเอาจากเอกสารหลักฐานว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีพระสงฆ์ประชุมกันมากถึงสองพันกว่ารูป และเกิดในช่วงที่พระพุทธองค์พึ่งได้ทรงรับถวายอารามแห่งนี้ การประชุมครั้งนั้นคงยังต้องนั่งประชุมกันตามลานในป่าไผ่ เนื่องจากเสนาสนะหรือโรงธรรมสภาขนาดใหญ่ยังคงไม่ได้สร้างขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันลานด้านทิศตะวันตกของสระกลันทกนิวาป เป็นลานกว้างลานเดียวในบริเวณวัดที่ไม่มีโบราณสถานอื่นตั้งอยู่) โดยได้นำพระพุทธรูปยืนปางประทานพรไปประดิษฐานไว้บริเวณซุ้มเล็ก ๆ กลางลาน และเรียกว่า "ลานจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าลานจาตุรงคสันนิบาตที่แท้จริงอยู่ในจุดใด และยังคงมีชาวพุทธบางกลุ่มสร้างซุ้มพระพุทธรูปไว้ในบริเวณอื่นของวัดโดยเชื่อว่าจุดที่ตนสร้างนั้นเป็นลานจาตุรงคสันนิบาตที่แท้จริง แต่พุทธศาสนิกชนชาวไทยส่วนใหญ่ก็เชื่อตามข้อสันนิษฐานของกองโบราณคดีอินเดียดังกล่าว โดยนิยมนับถือกันว่าซุ้มพระพุทธรูปกลางลานนี้เป็นจุดสักการะของชาวไทยผู้มาแสวงบุญจุดสำคัญ 1 ใน 2 แห่งของเมืองราชคฤห์ (อีกจุดหนึ่งคือพระมูลคันธกุฎีบนยอดเขาคิชกูฏ)
กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา
 
  imagesCAM1AUV4      imagesCADJR1I1
การปฎิบัติตนสำหรับพุทธศาสนาในวันนี้ก็คือ การทำบุญ ตักบาตรในตอนเช้า หรื อไม่ก็จัดหาอาหารคาวหวานไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัด ตอนบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา ในตอนกลางคืน จะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปที่วัดเพื่อชุมนุมกันทำพิธีเวียนเทียน รอบพระอุโบสถ พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์โดยเจ้าอาวาสจะนำว่า นะโม ๓ จบ จากนั้นกล่าวคำ ถวาย ดอกไม้ธูปเทียน ทุกคนว่าตาม จบแล้วเดิน เวียนขวา ตลอดเวลาให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ ๓ รอบ แล้วนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัด เตรียมไว้ เป็นอันเสร็จพิธี
  imagesCAEK9EI2

วัดเวฬุวันมหาวิหาร โดย...พระเทพโพธิวิเทศ (ทองยอด ภูริปาโล ป.ธ.๙, Ph.D.) 
"เวฬุวนาราม" จัดว่าเป็นสถานที่น่าอยู่และน่ารื่นรมย์ใจแห่งหนึ่ง ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสกับพระอานนท์เถรเจ้า ในบรรดาสถานที่ ๑๐ แห่งด้วยกันที่มีอยู่ในกรุงราชคฤห์ คือ     ๑. ภูเขาคิชกูฏ            ๒. โคตมนิโครธ            ๓. เหวที่ทิ้งโจร            ๔. สัตตปัณณคูหาข้างเวภารบรรพต            ๕. กาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ            ๖. เงื้อมผาสัปปโสณิกที่สีตวัน            ๗. ตโปธาราม            ๘. ชีวกัมพวัน            ๙. มัททกุจฉิมิคทายวัน            ๑๐. เวฬุวันสถานที่ให้เหยื่อกระแต
"เวฬุวนาราม" เป็นภาษามคธ หรือบาลี ๓ คำเชื่อมกันคือ "เวฬุ" ไม้ไผ่ วน ป่าหรือสวนและ อาราม วัด เมื่อถือเอาความตามภาษาไทย และถูกต้องกับความเป็นจริงแล้วแปลว่า "วัดไผ่ล้อม" ที่เรียกชื่อว่า วัดไผ่ล้อม ก็เพราะว่า เวฬุวนาราม มีต้นไม้ไผ่เขียวชอุ่มน่าดูและน่าชมยิ่งขึ้นล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเชิงภูเขาเวภารบรรพต ด้านทิศเหนือ บนริมฝั่งแม่น้ำ สรัสสวดี ซึ่งมี ตโปธาร ธารน้ำร้อนหรือบ่อน้ำร้อนคั่นอยู่ในระหว่าง พูดให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ เวฬุวนาราม ทางด้านใต้จดตโปธาร ซึ่งมีแม่น้ำสรัสสวดีไหลผ่าน ทางด้านทิศตะวันตกจดทุ่งหญ้า ซึ่งมีแม่น้ำสรัสสวดีไหลผ่านเช่นกัน ทางด้านทิศเหนือ ใกล้บ้านพักรับรองแขก (REST HOUSE) ส่วนทางด้านทิศตะวันออกติดกับถนนหลวง ซึ่งมีลำคลองเล็ก ๆ อันไม่ปรากฏชื่อไหลผ่านคั่นในระหว่าง ปัจจุบันทางเจ้าหน้าที่กองโบราณสถานของอินเดีย ได้ติดแผ่นป้ายเขียนเป็นภาษสันสกฤตติดบอกไว้ว่า "VENUVANA" (เวณุวัน) ซึ่งก็มีความหมายเป็นไปในทำนองเดียวกันว่า วัดไผ่ล้อม            ดังนั้น เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาและแสวงหาความรู้เรื่องเกี่ยวกับวัดไผ่ล้อม หรือเวฬุวนาราม ข้าพเจ้าจึงขอเล่าท้าวความเป็นมาดั้งเดิมเสียก่อนดังต่อไปนี้
พระราชอุทยานเวฬุวัน             เวฬุวัน ปรากฏว่าเคยเป็นพระราชอุทยาน หรือสวนหลวง เป็นสถานที่สำหรับเสด็จประพาสของพระเจ้าพิมพิสารมหาราช และข้าราชบริพารมาก่อน พระราชอุทยานแห่งนี้ นับว่าเป็นพระราชอุทยานที่จัดว่าอยู่ใกล้พระราชวังแห่งหนึ่งที่มีอยู่ในพระนครราชคฤห์ คืออยู่ถัดไปทางด้านทิศเหนือของประตูเมืองประมาณ ๒๕ เส้น ในเมื่อเราเดินหรือขึ้นรถผ่านออกจากประตูเมือง เราจะมองเห็นว่าพระราชอุทยานแห่งนี้อยู่ทางด้านซ้ายมือของเรา แต่เมื่อเราเดินหรือขึ้นรถผ่านเข้าตัวพระนคร เราจะมองเห็นว่าพระราชอุทยานนั้นอยู่ทางด้านขวามือ             พระราชอุทยานเวฬุวันที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ ในอดีตกาลคือในสมัยพระเจ้าพิมพิสารมหาราชผู้ครองแคว้นมคธ นอกจากจะเป็นราชอุทยานที่มีต้นไม้ไผ่อันเขียวชอุ่มอันน่าดูและน่าชมอย่างยิ่งขึ้นล้อมรอบทั้ง ๔ ด้านแล้ว ตามประวัติยังกล่าวไว้อีกว่า "พระราชอุทยานเวฬุวันนั้นยังมีกำแพงสูงถึง ๑๘ ฟิต กั้นล้อมอีกชั้นหนึ่ง และมีประตูใหญ่ (สำหรับปิดและเปิดในเวลาเข้าและออก)ประกอบด้วยหอคอย สำหรับเจ้าหน้าที่ดูแลและรักษาความปลอดภัย" ดังนั้น เวฬุวันจึงนับว่า เป็นพระราชอุทยานซึ่งนอกจากจะเป็นที่น่าอยู่และน่ารื่นรมย์ใจแล้ว ยังเป็นสถานที่ให้ความปลอดภัยแก่พระราชามหากษัตริย์ตลอดทั้งผู้ที่ได้เข้าไปดูและไปชมอีกสถานหนึ่งด้วย
พระราชอุทยานเวฬุวันสถานที่ให้เหยื่อกระแต             เวฬุวันนอกจากจะเป็นพระราชอุทยานที่ให้ความสำคัญที่น่าอยู่และน่ารื่นรมย์แด่พระเจ้าพิมพิสาร และข้าบริพารของพระองค์แล้ว เวฬุวันยังเป็นสถานที่ให้ความสุข และความปลอดภัยแก่สัตว์จำพวกกระแตอีกโสดหนึ่งด้วย คือทุก ๆ วันพระเจ้าพิมพิสารจะให้เจ้าหน้าที่นำเอาอาหารที่สัตว์จำพวกนี้ชอบกินมาให้เป็นประจำ และเขียนป้ายป่าวประกาศติด มิให้ผู้ใดผู้หนึ่งทำอันตรายแก่สัตว์จำพวกนี้ เพราะเรื่องมีอยู่ว่า ก่อนนี้พระองค์ได้เสด็จประพาสพระราชอุทยานเวฬุวัน วันนั้นพระองค์ทรงดื่มน้ำจัณฑ์มากไปหน่อยจึงทรงบรรทมหลับไป ณ สถานที่ตรงนั้นเอง ฝ่ายข้าราชบริพารที่ตามเสด็จมาด้วย ครั้นเห็นว่าเจ้าเหนือหัวของตนบรรทมหลับไปเช่นนั้น จึงต่างพากันทยอยออกไป บางพวกก็เก็บและเดินชมดอกไม้ บางพวกก็เก็บผลไม้มากิน ตามอัธยาศัยที่ตนชอบ ๆ ก็เพราะกลิ่นอันหอมหวานของน้ำจัณฑ์ที่ผสมกับแกล้มที่ระเหยจากพระนาสิกของพระองค์นั้นเป็นต้นเหตุ ทำให้อสรพิษที่อาศัยในโพรงไม้ใกล้ ๆ กับบริเวณนั้นอยู่ไม่ได้ มันจึงค่อยๆ เลื้อยออกมาจากที่อยู่ของมันบ่ายหน้ามุ่งตรงมายังที่พระราชาซึ่งบรรทมหลับอยู่นั้นเองด้วยหมายใจที่จะได้รับส่วนแบ่งและลิ้มรสอันโอชะนั้นบ้าง ฝ่ายรุกขเทวดาที่อาศัยอยู่ ณ สถานที่ใกล้ๆ แห่งนั้น
             ครั้นได้เห็นเหตุการณ์ดังนั้นเข้าเกิดเมตตาและสงสารคิดที่จะช่วยให้พระราชารอดพ้นจากอันตรายแห่งชีวิต ทันใดจึงเปลี่ยนเพศจำแลงกายเป็นกระแตส่งเสียงดังจ้าละหวั่นที่ใกล้ ๆ พระกรรณของพระราชา ดุจประหนึ่งจะปลุกว่า "ขอพระองค์จงตื่นจากบรรทมเถิดพระเจ้าข้า เพราะขณะนี้อันตรายจะเกิดขึ้นแก่พระองค์แล้ว" เพราะเสียงร้องอันดังของกระแตนั้นพระองค์จึงตกพระทัยตื่นขึ้น และทันทีนั้นอสรพิษก็พลันเลื้อยกลับไปยังที่อยู่ของตนดังเดิม พระองค์ครั้นเห็นเหตุการณ์ดังนั้นเข้าจึงทรงดำริว่า "ชีวิตของเราที่รอดพ้นอันตรายมาได้นั้นก็เพราะกระแตตัวนี้" ดังนั้นด้วยอำนาจแห่งพระกตัญญูของพระองค์ที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในพระกมลนิสัย จึงรับสั่งให้เจ้าหน้าที่นำเอาอาหารหรือเหยื่อมาให้แก่กระแตเป็นประจำ และให้นำพระราชโองการเที่ยวประกาศห้ามไม่ให้ใครมาทำร้ายสัตว์จำพวกนี้อีกต่อไปและตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาพระราชอุทยานเวฬุวันจึงได้สมัญญาสร้อยเพิ่มเติมตอนท้ายว่า "วฬุวันกลันทกนิวาป" เวฬุวันสถานที่ให้เหยื่อกระแตฯ
              อนึ่งจำเดิมแต่นั้น ปวงประชาชนชาวราชคฤห์ก่อนที่จะไปเที่ยวชมพระราชอุทยานเวฬุวันจึงค่อยๆ เริ่มนิยมกันนำเอาอาหารเตรียมติดตัวไปเพื่อให้กระแตที่อาศัยอยู่ในสถานที่นั้นครั้นมากเข้าๆ จนกลายเป็นสถาบันขึ้นมาว่า ผู้ใดก็ตามที่จะไปเที่ยวชมพระราชอุทยานเวฬุวัน ผู้นั้นจะต้องนำเอาอาหารเพื่อเป็นทานแก่กระแตติดตัวไปทุกครั้ง
              ดังนั้นกระแตในสมัยนั้นจึงนับว่าเป็นสัตว์ที่นอกจากจะโชคดีเที่ยววิ่งเล่นอย่างเป็นอิสระและอยู่อย่างเสรีในพระราชอุทยานแล้ว ยังมีอาหารกินอย่างสมบูรณ์อีกโสดหนึ่งด้วย ฯ
พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายพระราชอุทยานเวฬุวัน               ครั้นในกาลต่อมา เมื่อพระองค์ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาที่ชื่อว่า อนุปุพพิกถา และจตุราริยสัจจ ณ พระราชอุทยานสวนตาลหรือลัฏฐิวัน และในเวลาจบลงแห่งพระธรรมเทศนา พระองค์ได้บรรลุพระโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน ครั้นแล้วพระองค์จึงทรงกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระอริยสงฆ์ทั้ง ๑๐๐๐ รูปที่ตามเสด็จมาด้วย เพื่อเสวยพระกระยาหารในพระราชนิเวศน์ในวันรุ่งขึ้น ครั้นพระองค์ทรงอังคาสพระภิกษุสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธองค์เป็นประธานในวันรุ่งขึ้นเสร็จแล้ว
              ด้วยพระราชประสงค์ที่จะได้เห็นและฟังธรรมจากพระพุทธองค์อีกต่อไปแล้วด้วยพระราชอัธยาศัยที่ประกอบด้วยพระเมตตาและกรุณาที่มีต่อพสกนิกรที่จะได้มีโอกาสได้ฟังคำสั่งสอนและได้ดื่มรสอมตธรรมจากพระบรมศาสดาดังเช่นพระองค์ได้รับบ้าง จึงทรงพิจารณาเห็นว่า "พระราชอุทยานเวฬุวันสถานที่ให้เหยื่อกระแต เป็นสถานที่เหมาะสมแด่พระพุทธองค์และพระอริยสงฆ์ทุกประการ เพราะพระราชอุทยานเวฬุวัน นอกจากจะอยู่ไม่ใกล้และไกลเกินไปนักจากพระราชวังแล้ว เวฬุวันยังมีทางคมนาคมไปมาสะดวกสำหรับพสกนิกรผู้มีความประสงค์จะเข้าไปเฝ้าและฟังธรรมจากพระพุทธองค์และพระอริยสงฆ์เหล่านั้น กลางวันผู้คนก็ไม่พลุกพล่าน ทั้งกลางคืนก็เงียบสงัดปราศจากเสียงเอะอะโวยวาย มีลมพัดเฉื่อย ๆ พอเย็นสบาย ผู้คนที่จะมารบกวนใจให้เสียสมาธิก็ไม่มี จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะเป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมของพระพุทธองค์ผู้ดำรงอยู่ในเพศสมณวิสัย" ครั้นมีพระดำริดังนี้แล้ว ด้วยพระราชหฤทัยที่ผ่องแผ้ว ค่อยๆ เสด็จเข้าไปใกล้พระบรมศาสดา พร้อมด้วยพระหัตถ์ขวาทรงจับพระเต้าทอง และทรงประคองด้วยพระหัตถ์เบื้องซ้าย ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกให้ค่อยๆ ตกลงบนฝ่าพระหัตถ์เบื้องขวาของพระบรมศาสดา พร้อมกับทรงเปล่งพระวาจาด้วยภาษาของพระองค์ว่า "เอตาหํ ภนฺเต เวฬุวนํ อุยฺยานํ พุทฺธปฺปมุขสฺส"  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญหม่อมฉันขอน้อมถวายพระราชอุทยานเวฬุวันนั้น แด่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธองค์เป็นประธาน ขอพระองค์ได้ทรงโปรดรับไว้เป็นพระอารามเถิด"
              ทันทีที่พระเสียงดำรัสตรัสคำถวายพระราชอุทยานให้เป็นพระอาราม (วัด)จบพร้อมกับน้ำทักษิโณทกที่ตกลงบนฝ่าพระหัตถ์ของพระบรมศาสดาแม่พระธรณีก็ประพฤติอาการหวั่นไหวและสั่นสะเทือนประหนึ่งเหมือนจะบอกรับว่า"สาธุ"แทนพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมกันณที่นั้น เวฬุวันคือวัดเริ่มแรกในพระพุทธศาสนา               พระพุทธองค์ครั้นทรงรับพระราชอุทยานเวฬุวันแล้ว จึงทรงแสดงธรรมิกถาให้พระเจ้าพิมพิสารทรงเห็นและทรงสมาทานอาจหาญรื่นเริงในกุศลสัมมาปฏิบัติในการที่ได้ทรงอุทิศพระราชอุทยานให้เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ตามสมควรแก่เวลา ครั้นแล้วพร้อมด้วยพระอริยสงฆ์ทั้ง ๑,๐๐๐ รูปนั้นทูลลาพระเจ้าพิมพิสารเสด็จกลับไปประทับ ณ พระราชอุทยานเวฬุวัน และทรงอาศัยพระราชปรารถนาของพระเจ้าพิมพิสารบรมพิตรเป็นที่ตั้ง พระองค์ จึงทรงประชุมสงฆ์ประทานพุทธานุญาตให้รับวัดได้หากจะมีทายกทายิกา หรือท่านผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามที่มีศรัทธาและเลื่อมใสสร้างถวาย ด้วยพระดำรัสว่า "อนุชานามิ ภิกฺขเว อารามํ" แปลว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต (ให้รับ) ซึ่งอารามได้ ดังนี้ และจำเดิมตั้งแต่นั้นมาพระราชามหาอำมาตย์ เศรษฐี มหาเศรษฐี ตลอดจนข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนผู้ที่มีศรัทธา และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็ได้พากันสร้างวัดถวายให้แด่พระภิกษุสงฆ์สืบมาจนถึงทุกวันนี้ฯ
เสียงจากวัดเวฬุวันมหาวิหาร              ในระหว่างที่พระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ที่วัดเวฬุวันมหาวิหารนั้นกิตติศัพท์ของพระองค์อย่างนี้ว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง สมบูรณ์ด้วยวิชาและจรณะ เป็นผู้ไปดี มีความรู้เชี่ยวชาญทั้งคดีโลกและคดีธรรม อย่างที่จะหาใครมาเทียบไม่ได้ เป็นครูสอนทั้งเทวดาและมนุษย์ ฯลฯ พระองค์ทรงแสดงธรรมได้ไพเราะเพราะพริ้งนัก ฟังแล้วไม่รู้จักเบื่อตั้งแต่ต้นจนจบ ธรรมปริยายเป็นอันมาที่พระองค์ทรงแสดงแล้วเปรียบเหมือนการหงายของที่คว่ำอยู่ เปิดของที่มีสิ่งอื่นปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง หรือจุดไฟไว้ในที่มืด ๆ คำสั่งสอนของพระองค์ปราศจากกิ่งและใบปราศจากเปลือกและกระพี้ มีแต่แก่นแท้ๆ ปรากฏอยู่ดังนี้เป็นต้น ได้กระพือไปทั่ว จากพระราชวังไปยังนอกพระราชวัง จากนอกพระราชวังไปสู่ตามหัวเมืองและชนบทน้อยใหญ่ ประชาชนทุกชั้นทุกเพศและวัย ต่างก็ได้พากันหลั่งไหลมายังวัดเวฬุวันมหาวิหารเป็นประจำมิได้ขาดฯ"               ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง ในขณะที่พระบรมศาสดาประทับนั่งแสดงพระธรรมเทศนาแก่พวกพุทธบริษัทอยู่นั่นเอง อุปติสสะและโกลิตะ หรือสารีบุตรและโมคคัลลานะพร้อมด้วยบริวาร ๒๕๐ คน ได้เข้าเฝ้าและนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงกราบทูลขอบรรพชาและอุปสมบทต่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดา พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้ท่านทั้ง ๒ พร้อมด้วยบริวาร ๒๕๐ คน เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาได้ด้วยพระวาจาว่า "ขอเธอทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ขอเธอทั้งหลายจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำให้สิ้นทุกข์เถิด" ด้วยพระวาจาดังกล่าวมานี้ สารีบุตรและโมคคัลลานะพร้อมด้วยบริวาร ๒๕๐ คน ก็ได้เป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา ซึ่งได้รับการอุปสมบทเป็นครั้งแรกในวัดเวฬุวันมหาวิหาร ครั้นเสร็จพิธีการบรรพชาและอุปสมบทแล้ว พระพุทธองค์ก็ได้ทรงแสดงธรรมเทศนาต่อไปและในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา ปรากฏว่าพระภิกษุ ๒๕๐ ยกเว้นพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลสิ้นความเศร้าหมองทุกประการ พระมหาโมคคัลลานะหลังจากบรรพชาและอุปสมบทแล้วได้ ๗ วันจึงได้บรรลุพระอรหัตต์                  ส่วนพระสารีบุตรหลังจากบรรพชาและอุปสมบทแล้วได้ ๑๕ วันและในวันที่ ๑๕ นั่นเอง ในขณะที่ท่านนั่งอยู่ถวายงานพัด ณ เบื้องหลังพระปฤษฎางค์แห่งพระบรมศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนาที่มีชื่อว่า "เวทนาปริคคหสูตร" ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ทีฆนขะปริพพาชกผู้เป็นหลายชาย ณ ถ้ำสุกรขาตาบนเขาคิชฌกูฏ ท่านดำริในในใจว่า พระบรมศาสดาทรงสอนให้ละการยึดมั่นถือมัน ในธรรมทุกๆ อย่างด้วยปัญญาอันรู้ยิ่ง เมื่อท่านพิจารณาอยู่อย่างนั้น ด้วยความไม่ยึดมั่นจิตของท่านก็พลันหลุดพ้นจากความเศร้าหมองทุกประการ คือสำเร็จแห่งความเป็นพระอรหันต์ซึ่งตรงกับเวลาเที่ยงวันพอดี ครั้นแล้วพระพุทธองค์ก็ได้เสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏไปประทับ ณ เวฬุวันมหาวิหาร
เวฬุวันมหาวิหารคือสถานที่ประชุมสงฆ์ครั้งสำคัญ                 วันนั้นนับว่าเป็นวันที่น่ามหัศจรรย์อย่างยิ่ง คือ ในขณะที่พระองค์ได้ทรงเสด็จมาถึงเวฬุวันมหาวิหาร ปรากฏว่าพระสงฆ์สาวกที่พระองค์บวชให้แล้วและได้ส่งไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ สถานที่ต่าง ๆ ได้มารอเฝ้าพระองค์อยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นในตอนบ่ายวันนั้น พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า โอกาสที่อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน จึงทรงเรียกประชุมพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดที่อยู่ที่นั้นและทรงประกาศแต่งตั้งตำแหน่งพระอัครสาวก คือทรงประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรให้ดำรงตำแหน่งเบื้องขวา ส่วนพระมหาโมคคัลลานะนั้นให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งเบื้องซ้าย เสร็จแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงประทานพระบรมพุทโธวาทซึ่งเรียกว่า พระโอวาทปาฏิโมกข์คือเนื้อความอย่างย่อๆ ในพระพุทธศาสนา
               การประชุมสงฆ์ครั้งนี้จัดว่าเป็นการประชุมครั้งสำคัญยิ่งในทางพระพุทธศาสนา และไม่มีครั้งใดที่จะยิ่งกว่า เพราะว่า                ๑. พระสาวกผู้เข้ามาประชุมนั้นอนุมานได้ ๑,๒๕๐ องค์ และล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์                ๒. พระสาวกทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือพระสาวกที่ได้อุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธองค์                ๓. พระสาวกทั้งหมดนั้นต่างมาพร้อมกันเองโดยมิได้นัดหมาย                ๔. วันนั้นเป็นวันมาฆปุณณมีดิถีเพ็ญกลางเดือนสาม และพระบรมศาสดาทรงประทานพระบรมพุทโธวาทซึ่งเรียกว่า "โอวาทปาฏิโมกข์"                การประชุมสงฆ์ครั้งนั้นมีชื่อเล่าลือกันต่อมาในทางพระพุทธศาสนาว่า "จตุรังคสันนิบาต" ดังนั้นการประชุมสงฆ์ครั้งนั้นจึงนับว่า เป็นการประชุมครั้งสำคัญซึ่งฝังติดอยู่ในใจของพวกพุทธบริษัทสืบ ๆ ต่อกันมาไม่รู้ลืม คือทุกปีของวันเพ็ญกลางเดือนสาม พวกชาวพุทธบริษัททุกประเทศ นิยมบำเพ็ญกันเป็นงานมหากุศลประจำปี ซึ่งปัจจุบันนี้เรานิยมเรียกว่า "ทำบุญวันมาฆบูชา"
                 พระบรมพุทโธวาทที่เรียกว่า พระโอวาทปาฏิโมกข์ที่ยกขึ้นแสดงในวันมาฆบูชานั้น พระพุทธองค์ได้ทรงประพันธ์ไว้แบ่งได้เป็น ๓ คาถาครึ่ง ซึ่งเมื่อนับเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ คงได้ ๑๒ หัวข้อพอดีดังนี้
พระคาถาที่หนึ่ง ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ
๑. ขันติ คือความอดกลั้นเป็นตปะอย่างยอด ๒. ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นยอด ๓. ผู้ที่บวชแล้วยังนิยมการฆ่าและเบียดเบียนคนอื่น และสัตว์อื่นอยู่ไม่จัดว่าเป็นสมณะคือผู้สงบ ฯ
พระคาถาที่สอง
สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ
๔. การไม่ทำความชั่วทุกๆ อย่าง ๕. บำเพ็ญแต่กุศลคือความดีอย่างเดียว ๖. พยายามทำจิตของตนให้บริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมอง ทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นคำสอน (ที่เป็นจุดมุงหมาย) ของท่านผู้รู้ทั้งหลาย
พระคาถาที่สาม
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร มตฺตญฺญุุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺฺจ สยนาสนํ อธิจิตฺเต จ อาโญโค เอตํ พุทฺธานสาสนนฺติฯ
๗. การไม่พูดจากระทบกระเทือนเปรียบเปรยกัน ๘. การไม่รังแกและทำร้ายกัน ๙. การสำรวมในปาฏิโมกข์ ๑๐. การรู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ๑๑. การยินดีแต่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด ๑๒. การประกอบความเพียรในทางจิตอันสูงส่ง ทั้ง ๖ ข้อนี้ก็เช่นกันเป็นคำสอน (ที่เป็นจุดมุ่งหมาย) ของท่านผู้รู้ทั้งหลาย ฯ
เพลงร้องสรรเสริญเวฬุวันมหาวิหาร                    พระเจ้าพิมพิสารมหาราชผู้เป็นอัครศาสนูปถัมภ์แห่งพุทธศาสนาทรงมีความโสมนัสและปรีดาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระองค์ทรงได้ยินและได้เห็นพวกพสกนิกรของพระองค์และต่างแคว้นสุดที่จะกำหนดและพรรณนาต่างได้ดื่มรสอมตธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาดังที่พระองค์ได้ทรงปรารถนาไว้แต่ก็ทรงที่จะน้อยพระทัยมิได้ ในเมื่อนึกถึงพระนางเขมาอัครมเหสีผู้เป็นที่รักยิ่งของพระองค์ที่ยังทรงลุ่มหลงแต่รูปกายของตนว่างาม แต่ไม่ยอมติดตามพระองค์ไปเฝ้าพระบรมศาสดาเยี่ยงคนอื่นบ้าง พลางดำริดังนี้แล้ว พระองค์จึงทรงรับสั่งให้นักกวีเอกประจำพระราชสำนักแต่งเพลงสรรเสริญความงามของพระราชอุทยานเวฬุวัน เสร็จแล้วแล้วทรงรับสั่งให้จัดสรรหานักร้องชั้นยอดมาร้อง ณ สถานที่ใกล้กับปราสาทที่พระนางเขมาเทวีบรรทม ผู้ใดมิได้เห็นพระมหาวิหารเวฬุวันอันน่ารื่นรมย์ ซึ่งเป็นสถานที่ประทับของพระสุคตเจ้าและเหล่าพระอริยสาวก เขาผู้นั้นชื่อว่าไม่ได้เห็นสวนนันทวัน (ของท้าวอมรินทร์สักกเทวราช)                   ส่วนผู้ใดได้เห็นพระมหาวิหารเวฬุวัน อันเป็นสวนนันทวันที่น่าเพลิดเพลินของนรชน (ไซร้) ผู้นั้นชื่อว่าได้เห็นสวนนันทวันของท้าวอมรินทร์สักกเทวราช พวกทวยเทพต่างทอดทิ้งสวนนันทวันลงมายังพื้นดิน พากันชมพระมหาวิหารเวฬุวันอันน่ารื่นรมย์ เพลินชมกันอย่างไม่รู้เบื่อ                   พระมหาวิหารเวฬุวันอันเกิดขึ้นด้วยบุญของพระราชา อันงามสง่าด้วยเดชานุภาพของพระบรมศาสดา ใครเล่าจักกล่าวพรรณนาความงามนั้นให้ครบครันลงได้ ครั้นได้ทรงสดับเสียงเพลงสรรเสริญพระราชอุทยานเวฬุวัน ซึ่งไพเราะ และเพราะพริ้งเช่นนั้น พระนางก็ทรงเกิดความปรารถนาจะไปชมบ้าง ครั้นทรงพระดำริในพระทัยดังนี้แล้ว พระนางก็เสด็จไปกราบทูลลาพระราชสวามีให้ทรงทราบถึงความประสงค์ของพระนางทุกประการ
                   พระเจ้าพิมพิสารมหาราชทรงดีพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระองค์ได้ทรงสดับคำจากพระโอษฐ์ของน้องหญิงผู้เป็นที่รักกราบทูลเช่นนั้น พลันตรัสอนุญาตให้พระนางเสด็จไปได้ตามที่พระนางปรารถนา แต่ก่อนจะเสด็จไปได้ทรงเตือนพระสติว่า "ควรจะไปเฝ้าพระบรมศาสดาก่อนแล้วจึงค่อยเสด็จกลับ" พระนางไม่ทรงตอบรับและปฏิเสธประการใด เพราะเหตุดังนี้พระราชาจึงได้ทรงสั่งสำทับกับข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จไปด้วยอีกต่อหนึ่งว่า "ถ้าพระอัครมเหสีไม่ทรงยอมพบพระบรมศาสดา จงกราบทูลเธอว่า นี่เป็นพระราชอาญาจากล้นเกล้า" ครั้นแล้วพระนางเขมาพร้อมด้วยข้าราชบริพารก็ได้เสด็จไปเที่ยวชมพระราชอุทยานในตอนเช้าของวันนั้น
เวฬุวันที่พระนางเขมาทรงเห็น                   ณ วันนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาได้เสด็จไปบิณฑบาตตั้งแต่ตอนเช้าและเที่ยวเทศนาสั่งสอนประชานผู้มีศรัทธาและเลื่อมใส กว่าจะเสด็จกลับมาถึงเวฬุวันก็บ่ายเย็น                   ฝ่ายพระนางเขาก็เสด็จชมพระราชอุทยานสวนสวรรค์ทีอยู่บนพื้นดินเกือบตลอดทั้งวัน พระนางได้ทอดพระเนตรเห็นความงามของต้นไม้และพรรณไม้ดอกนานาชนิด ซึ่งกำลังออกดอกและออกผลจนทั่วบริเวณ ทรงเห็นหมู่แมลงผึ้งและแมลงภู่พากันมาชม และลิ้มรสแห่งเกสรอยู่เป็นหมู่ๆ ได้ยินเสียงร้องของนกดุเหว่าส่งเสียงร้องอยู่เจื้อยแจ้วบนต้นไม้สูง เห็นนกยูงรำแพนอยู่เป็นคู่ ๆ ดูแล้วงทำให้ใจเบิกบาน พระนางได้พบสถานที่อันเงียบสงัด และงดงามไปด้วยที่เดินจงกรม ทรงเห็นอาศรมและปรำซึ่งเป็นที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์ที่สร้างไว้อย่างมีระเบียบและเรียบร้อยเป็นจำนวนมากตั้งอยู่เป็นทิวแถวใกล้กอไผ่ ครั้นทอดพระเนตรไปยังโคนต้นไม้พระนางได้ทรงทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุหนุ่มกำลังนั่งสมาธิ พลางดำริในพระทัยว่า "การนั่งสมาธิเพ่งธรรมอยู่เช่นนี้ น่าจะเหมาะแก่พวกคฤหัสถ์ผู้ที่มีความสุขทางโลกีย์มากเพียงพอแล้ว จึงควรบำเพ็ญ หรือมิเช่นนั้นก็ควรจะทำในยามแก่"
                    พระนางได้เสด็จชมพระราชอุทยานเวฬุวัน โดยทำนองนี้จนเกือบตลอดวันไม่ทรงรู้สึกเบื่อหน่าย แต่พอเห็นเวลาบ่ายมากพระนางก็ทรงปรารภกับพวกข้าราชบริพารว่า จะเสด็จกลับสู่พระราชวัง พวกข้าราชบริพารครั้นได้ฟังพระราชเสาวนีย์จากพระนางดังนั้น จึงทูลอัญเชิญเสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดาตามพระราชโองการและในเวลาเย็นวันนั้นตามประวัติกล่าวว่า พระบรมศาสดาทรงทราบว่าพระนางเขมาเทวีผู้ซึ่งเป็นพระมเหสีที่รักของพระเจ้าพิมพิสารเสด็จมา พระองค์ทรงกระทำประหนึ่งว่ากำลังนั่งแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัทนิรมิตนางอัปสรกำลังนั่งถือพัดวีไปมาอยู่ข้าง ๆ พระราชเทวีเมื่อเสด็จเข้าไปเห็นเข้าเช่นนั้น จึงทรงดำริติตนเองในใจว่า "เราเข้าใจผิดไปถนัด หญิงรูปสวยประดุจนางเทพอัปสรเช่นนี้ ยังมีมายืนและนั่งใกล้ถือพัดวีไปมาอยู่ข้าง ๆ พระพุทธองค์ หากจะยกเอาตัวเราเข้าเปรียบ แม้จะเทียบกับสาวใช้ของเธอก็ไม่ได้ ตัวเราได้คิดผิดไปเสียนานที่ได้แต่นั่งนึกนอนนึกฝันหวานอย่างผิด ๆ ว่าตัวเราสวยอย่างหาผู้เปรียบมิได้" ในขณะที่พระนางดำริอยู่และจ้องพระเนตรดูหญิงนั้นอยู่ พระทรงธรรม์ก็ทรงนิรมิตให้หญิงนั้นจากวัยรุ่นสาวเปลี่ยนเป็นวัยกลางคน จากวัยกลางคนไปเป็นวัยชรา มีหน้าเหี่ยวย่นตลอดทั่วสรรพางค์กายผมหงอกฟันหลุด และในที่สุดพระองค์ก็ทรงนิรมิตให้หญิงนั้นกลิ้งล้มทิ้งพัดต่อหน้าพระพักตร์ของพระนาง ครั้นพระนางได้ทอดพระเนตรเห็นด้วยตาตนเองเช่นนั้น จิตของพระนางก็พลันสลดได้พระสติว่า "รูปกายของคนเรานี้ถึงจะมีอย่างต่างกัน (คือสวยน้อยสวยมาก) ก็ตาม (ในที่สุด) ก็ย่อมถึงซึ่งความวิบัติ (แก่ ตาย) อย่างเดียว ถึงแม้รูปกายของเรานั้นก็จักเป็นเหมือนอย่างนี้ในที่สุดฯ"
                    ในขณะที่พระนางทรงพิจารณาเห็นความไม่แน่นอนของสังขารอยู่นั่นเอง พระพุทธองค์จึงทรงตรัสพระคาถาสอนพระนางว่า เย ราครตฺตานุปตนฺติ โสตํ สยํ กตํ มกฺกโฏว ชาลํ เอตมฺปิ เฉตฺวาน วชนฺติ ธีรา อนเปกฺขิโน สพฺพทุกฺขํ ปหายาติ ฯ บุคคลใดก็ตามที่ถูกความรักใคร่ผูกมัด เขาเหล่านั้นย่อมจัดว่าตกอยู่ในกระแสแห่งความอยากเหมือนกับแมงมุมที่กำลังติดใยตนเอง ส่วนคนผู้มีปัญญา ขจัดความอยากนั้น ไม่ติดใจในมันอีกต่อไปย่อมละความทุกข์ทั้งหมดได้เที่ยวไป (อย่างเสรี)
                    ในที่สุดแห่งพระคาถา พระนางเขมาเทวีก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลหมดความกังวลในเรื่องโลกีย์อีกต่อไปฯ ครั้นแล้วพระนางก็ทราบกราบทูลลาพระบรมศาสดากลับสู่พระราชนิเวศน์ แล้วทรงแจ้งเหตุทุกๆ ประการที่พระนางได้รับจากพระราชอุทยานเวฬุวัน ณ วันนั้น เสร็จแล้วพระนางจึงทูลขออนุญาตออกบรรพชาต่อพระราชสวามีฯ ครั้นได้ทรงสดับดังนั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งจึงให้เจ้าหน้าที่จัดเสลี่ยงทองคำแด่พระนางไปยังสำนักพระภิกษุณีฯ พุทธกิจในเวฬุวันมหาวิหาร                     พุทธกิจต่างๆ ที่พระบรมศาสดาทรงบำเพ็ญในขณะที่พระองค์ประทับอยู่ในเวฬุวันมหาวิหารตลอดระยะกาล ๕ พระพรรษา และในระหว่างที่เสด็จไป ๆ มา ๆ ประทับแรมอยู่นั้นนอกจากพุทธกิจดังที่กล่าวมาข้างต้นอย่างย่อๆ แล้ว พระพุทธองค์ยังได้ทรงแสดงพระสูตรและตรัสเล่าเรื่องชาดกต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น ทีฆลัฏฐสูตร นันทพสูตร จันทพสูตร ฯลฯ และอสัมปทานชาดก อุปหานชาดก นิโครธชาดกเป็นต้น และนอกจากนั้นยังได้ทรงบัญญัติสิกขาบทเป็นจำนวนมากมาย ประชาชนหลายชั้นหลายพวกตลอดถึงพวกเทวดาก็ปรากฏว่าได้มาเฝ้าทูลถามปัญหาและฟังพระธรรมเทศนา ณ สถานที่เวฬุวันมาหาวิหารแห่งนี้ อนึ่งหลังจากที่พระอัญญาโกณฑัญญะและพระมหาโมคคัลลานะอัครสาวกเบื้องซ้ายดับขันธนิพพานแล้ว
                    พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้สร้างพระสถูปสำหรับบรรจุพระอัฐิของท่านพระมหาเถระทั้ง ๒ ไว้ที่ประตูของเวฬุวันมหาวิหารทั้ง ๒ ข้าง พระบรมศาสดาทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธโดยยึดเอาเวฬุวันมหาวิหารนี้เป็นจุดศูนย์รวมในการเผยแพร่คำสั่งสอนของพระองค์เสด็จจาริกไปมาในชนบทนั้นๆ และค่อยๆ ขยายแผ่ทั่วไปยังแว่นแคว้นที่พระองค์เสด็จไปถึง ให้เกิดความเชื่อความเลื่อมใสออกบรรพชาและอุปสมบทในพระธรรมวินัยเป็นภิกษุ เป็นภิกษุณีบ้าง เป็นสามเณร เป็นสามเณรีบ้าง เป็นอุบาสกบ้าง เป็นอุบาสิกาบ้าง ประกาศพระศาสนาให้แพร่หลาย สมดังปณิธานที่พระพุทธองค์ได้ทรงตั้งไว้ทุกประการ
นายแพทย์ใหญ่ประจำเวฬุวันมหาวิหาร                     ฝ่ายชีวกโกมาภัจจ์ผู้เป็นบุตรของนางสาลวดีหญิงงามเมืองซึ่งเกิดจากพระเจ้าอภัยราชกุมาร หลังจากที่ท่านได้สำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์จากเมืองตักกสิลา ได้เที่ยวรักษาพยาบาลคนไข้รายใหญ่ๆ และผลที่สุดกลายเป็นนายแพทย์ประจำองค์พระเจ้าพิมพิสารและในกาลต่อมาท่านได้เกิดความเลื่อมใสในพระบรมศาสดา จึงขอปวารณาตัวท่านเองเป็นนายแพทย์ประรจำพระพุทธองค์พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดที่อยู่ในเวฬุวันมหาวิหารและจำเดิมแต่นั้นเป็นต้นมาทุกๆ เช้าก่อนที่จะไปทำงาน ท่านต้องไปเฝ้าพระพุทธองค์และเยี่ยมพระภิกษุสงฆ์เป็นประจำมิได้ขาดฯ
                    ครั้นต่อมามีเรื่องเล่าว่า ในแคว้นมคธครั้งนั้น ประชาชนเป็นจำนวนมากเป็นโรคเรื้อน โรคมงคร่อ โรคกลาก โรคหืด และโรคลมบ้าหมู เขาเหล่านั้นเมื่อทราบว่า ในพระนครราชคฤห์มีนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชื่อว่า ชีวก โกมาภัจจ์ สามารถจะบำบัดรักษาโรคจำพวกนี้ให้หายขาด ครั้นแล้วต่างก็พากันไปให้ท่านช่วยรักษา แต่ทุกๆ รายก็ต้องถูกปฏิเสธกลับมาโดยทำเดียวกันว่า "เวลาตอนเช้าท่านต้องไปเฝ้าพระพุทธองค์ตรวจตราและรักษพระภิกษุสงฆ์ที่วัดเวฬุวัน ตอนสายก็ต้องไปทำงานในพระราชวังเป็นประจำ" เมื่อคนไข้ทั้งหลายผิดเหวังเช่นนั้น เข้าจึงต่างหันหน้าเข้าปรึกษากันว่า ถ้ากระไรพวกเราพากันไปบวชดีกว่าเพราะเมื่อบวชแล้ว นอกจากพวกเราจะมีความเป็นอยู่แสนสบายและได้บริโภคอาหารดีๆ ที่มีคนนำมาถวายแล้ว พวกเรายังจะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างฟรีๆ จากนายแพทย์ชีวกอีกด้วยฯ คิดได้ดังนั้นแล้วพวกคนที่เป็นโรคดังกล่าวก็พากันมาบวชที่วัดเวฬุวันทุกๆ วันจนในที่สุดนายแพทย์ชีวกไม่มีเวลาที่จะไปรักษาคนภายนอกได้ เพราะมัวแต่รักษาพระในวัดเวฬุวัน
                    ครั้นแล้วท่านนายแพทย์ได้ไปกราบทูลเรื่องต่างๆ ให้พระบรมศาสดาทรงทราบแล้วกราบขอพระพรต่อพระพุทธองค์ว่า "ถ้าหากมีคนที่เป็นโรค ๕ อย่าง คือ โรคเรื้อน โรคมงคร่อ โรคกลาก โรคหืด และโรคลมบ้าหมู มาขอบรรพชาอุปสมบท ขอพระองค์อย่าได้รับให้บวชเลย" และแล้วพระบรมศาสดาก็ทรงแสดงธรรมิกถาให้นายแพทย์ ชีวกโกมารภัจจ์ ได้เห็นสมาทานอาจหาญและรื่นเริงในกุศลที่นายแพทย์ได้กระทำไปแล้วนั้นเป็นการดีและสมควรอย่างยิ่ง และให้ทรงประชุมภิกษุสงฆ์ ทรงปรารภเรื่องนายแพทย์ชีวกกราบทูลเป็นต้นเหตุ จึงทรงบัญญัติว่า "ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ขอพวกเธอทั้งหลายจงอย่าให้คนที่เป็นโรค ๕ อย่างคือ โรคเรื้อน โรคมงคร่อ โรคกลาก โรคหืด และโรคลมบ้าหมู อย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามาบวช ถ้าภิกษุใดให้บวชต้องเป็นอาบัติทุกกฏ" และจำเดิมแต่นั้นมา พวกภิกษุผู้เป็นอนุชนรุ่นหลังก็ถือเป็นหลักปฏิบัติสืบๆ มาจนถึงทุกวันนี้ คือใครก็ตามก่อนที่จะเข้าไปเพื่อขออุปสมบทในท่ามกลางสงฆ์จะต้องถูกคู่สวดซักถามว่าเป็นโรคเรือนเป็นต้นหรือเปล่า ดังที่เราได้ยินพระคู่สวดสวดถามนาคก่อนอุปสมบทว่า กุฎฺฐํ คณฺโท กิลาโส โสโส อปมาโร ดังนี้ฯ
                   ดังนั้นเวฬุวันนอกจากจะเป็นสถานที่สำคัญในการช่วยเปลื้องความทุกข์ทางใจได้แล้วเวฬุวันยังเป็นโรงพยาบาลสงฆ์แห่งแรกที่นายแพทย์ชีวกโกมารภัจจ์เป็นผู้ริเริ่มและจัดตั้งอีกประการหนึ่งดังกล่าวมา เวฬุวันหลังจากพุทธองค์นิพพาน                    ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะมีอยู่ในโลกนี้หรือโลกไหนก็ตามในเมื่อมีความเกิดขึ้น สิ่งเหล่านั้นก็จะต้องมีความแปรปรวนและดับสลายไปในที่สุด อันนี้เป็นหลักธรรมดาของสิ่งทั่วไป                    ดังนั้นพระภิกษุสงฆ์ที่พักอาศัยอยู่ในวัดต่างๆ ทั่วชมพูทวีป ครั้นได้ทราบข่าวการเสด็จดับขันธปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างก็พากันทอดทิ้งวัดวาอารามของตน มุ่งตรงไปยังเมืองกุสินาราเป็นจุดเดียวกัน เพื่อถวายสักการะแด่พระพุทธองค์ครั้งสุดท้ายคือการถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธองค์                    ฝ่ายพระอานนท์เถรเจ้า ครั้นถวายพระเพลิงพระบรมศาสดาเสร็จแล้วได้เที่ยวไปปลอบขวัญประชาชนตามหัวเมืองต่าง ๆ จนทั่ว ครั้นพอสมควรแก่เวลาแล้ว ท่านก็ได้มุ่งหน้าตรงมายังพระนครราชคฤห์และครั้นมาถึงก็ได้พบว่าวัดทุกวัดในนครราชคฤห์ตกอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก
                   ดังนั้นท่านจึงได้นำความอันนี้ขึ้นกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรูให้ทรงทราบและได้ทูลขอเงินอุปถัมภ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์ ครั้นบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงรับสั่งให้ทำการฉลองพร้อมทั่วทุกวัดในเวันเดียวกัน พอเสร็จจาการฉลอง พระอานนท์เถรเจ้าก็ได้มาพักอยู่ที่วัดเวฬุวันปัดกวาดและปฏิบัติต่อสถานที่ๆ พระพุทธองค์เคยทรงประทับทุกๆ แห่งเหมือนในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่เป็นประจำมิได้ขาด และบางครั้งบางโอกาสก็ได้แสดงธรรมแด่พวกสาธุชนผู้ทีมาเยี่ยมและสนใจในคำสั่งสอนของพระองค์ และตลอดทั้งพระภิกษุสงฆ์รุ่นหลังเช่นพระทาสกะเป็นต้น เป็นศิษย์ของพระอุบาลีเถรเจ้า ก็ได้อยู่และยึดวัดเวฬุวันนี้เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา และปรากฏว่าท่านได้ทำการอุปสมบทให้แก่พระโสณกะกับสหายของท่านอีก ๕๕ คน ณ ที่เวฬุวันมหาวิหารนี้
เวฬุวันที่ ๒ หลวงจีนได้เห็น                     พระเถระและอนุเถระรุ่นต่อๆ มา ท่านก็ได้ดำเนินรอยตามประเพณีที่พระมหาเถระรุ่นก่อนได้ประพฤติและปฏิบัติสืบกันมาเป็นเวลาเกือบถึงพันปีคือตกอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๙๔๒ - ๙๕๗ หลวงจีนฟาเหียน ได้ มาสืบศาสนา ณ เมืองพุทธภูมิเกือบทั่วทุกแห่ง ท่านได้บันทึกไว้ว่าท่านได้มาเยี่ยมวัดเวฬุวันและขณะนั้นท่านยังได้เห็นวิหารหลังเก่าหรือมูลคันธกุฎีปรากฎอยู่และยังมีพระภิกษุหลายองค์ช่วยกันดูแลรักษาและปัดกวาดกันอยู่เป็นประจำ แต่พอกาลเวลาล่วงมาอีกประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ พระหลวงจีนถังซัมจั๋งได้เข้ามาศึกษาวิชาฝ่ายพุทธศาสนา ณ เมืองนาลันทา และในขณะที่ท่านได้ศึกษาอยู่นั้นท่านก็ได้สละเวลามาดูวัดเวฬุวันเช่นกัน แต่เป็นที่น่าเสียดายซึ่งในขณะนั้นท่านได้บันทึกไว้แต่เพียงว่า ท่านได้เห็นแต่เพียงซากของมูลคันธกุฎีซึ่งมีกำแพงที่ก่อด้วยอิฐล้อมรอบอยู่เท่านั้น จึงเป็นอันลงความเห็นได้ว่า เวฬุวันที่เคยรุ่งเรืองคือเคยได้เป็นพระราชอุทยานสถานที่ท่องเที่ยวของพระราชาและเคยเป็นจุดศูนย์กลางแห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลากว่าพันปี ก็ได้ถูกทอดทิ้งกลายเป็นสถานที่รกร้างจำเดิมแต่กาลนั้นเป็นต้นมาฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น