อาหารเจ กินเจ อย่างไรให้ถูกหลัก
สำหรับ อาหารเจ เราจะทานในระหว่างเทศกาลกินเจ คือช่วงระหว่างวันขึ้น 1-9 ค่ำเดือน 8 (ตามปฏิทินจีน) ซึ่งตรงกับประมาณเดือนตุลาคม มีระยะเวลาประมาณ 10 วัน โดยมีความเชื่อว่า หากใครกินเจจะได้บุญ ส่งผลให้ชีวิตประสบความสุขความเจริญ ทั้งเป็นการต่อชีวิตให้ยืนยาวต่อไปด้วย หรือในบางคนอาจจะทาน "อาหารเจ" เป็นกิจวัตรประจำวันก็ได้
แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงอาหารเจ เราต้องหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ทุกชนิด และปรุงอาหารด้วยแป้ง เต้าหู้ ซีอิ๊ว ถั่วเหลือง ถั่วต่าง ๆ รวมทั้งผักนานาชนิด ยกเว้น ผักฉุน 5 ประเภท ที่เป็นผักรสหนัก มีกลิ่นเหม็นคาวรุนแรง ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ และยังมีพิษทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ นั่นก็คือ
1.กระเทียม ทั้งหัวกระเทียม ต้นกระเทียม ส่งผลกระทบต่อธาตุไฟของร่างกาย แม้ว่ากระเทียมจะมีสารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล แต่กระเทียมมีความระคายเคืองสูง อาจไปทำลายการทำงานของหัวใจได้ ผู้เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือโรคตับ ไม่ควรรับประทานมาก
2.หัวหอม รวมไปถึงต้นหอม ใบหอม หอมแดง หอมขาว หอมหัวใหญ่ ซึ่งตามหลักการแพทย์โบราณของจีนเชื่อว่า หัวหอม จะกระทบกระเทือนต่อธาตุน้ำในร่างกาย และไปทำลายการทำงานของไตได้ แม้ว่าหอมแดง จะมีฤทธิ์ช่วยขับลม แก้ท้องอืด แก้ปวดประจำเดือน แต่ไม่ควรบริโภคมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการหลง ๆ ลืม ๆ ได้ง่าย รวมทั้งนัยน์ตาพร่ามัว มีกลิ่นตัว
3.หลักเกียว หรือที่รู้จักว่า กระเทียมโทนจีน ลักษณะคล้ายหัวกระเทียมที่พบเห็นทั่วไป แต่จะมีขนาดเล็กและยาวกว่า ในทางการแพทย์ของจีนเชื่อว่า หลักเกียว ส่งผลกระทบกระเทือนต่อธาตุดินในร่างกาย และไปทำลายการทำงานของม้าม
4.กุยช่าย เชื่อกันว่า กุยช่าย จะไปกระทบกระเทือนต่อธาตุไม้ในร่างกาย และทำลายการทำงานของตับ
5.ใบยาสูบ ไม่ว่าจะเป็นยาเส้น บุหรี่ ของเสพติดมึนเมา อะไรต่าง ๆ จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อธาตุโลหะในร่างกาย และทำงานการทำงานของปอด
และหากต้องการกินเจให้ถูกหลัก เราควรรับประทานผักผลไม้ต่าง ๆ ให้ครบ 5 สีในแต่วัน ตามสี ของแต่ละธาตุทั้ง 5 คือ
1.สีแดง แดงส้ม แสด ชมพู เช่น มะเขือเทศ แครอท พริกสุก มะละกอ แตงโม ฯลฯ ถือเป็นสัญลักษณ์ของธาตุไฟ จะช่วยลดคอเลสเตอรอลส่วนเกิน ลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ สำหรับใครที่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารรสขม ที่จะไปทำอันตรายต่อระบบการไหลเวียนของโลหิต
2.สีดำ น้ำเงิน หรือ ม่วง เช่น ถั่วดำ เผือก มะเขือม่วง เห็ดหูหนู ลูกหว้า องุ่น เป็นสัญลักษณ์ของธาตุน้ำ มีประโยชน์ต่อไต ส่วนผู้ที่มีปัญหาเรื่องไต ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารรสเค็ม
3. สีเหลือง ทั้งเหลืองแก่ และเหลืองอ่อน เช่น ฟักทอง ถั่วเหลือง มะม่วง ข้าวโพด กล้วย ทุเรียน เป็นสัญลักษณ์ของธาตุดิน มีประโยชน์ในการบำรุงม้าม แต่ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารรสหวาน
4. สีเขียว ทั้งสีเขียวเข้ม สีเขียวอ่อน เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ฝรั่ง ถั่วฝักยาว ถือเป็นสัญลักษณ์ของธาตุไม้ หากรับประทานมาก ๆ จะช่วยบำรุงตับ ส่วนผู้ที่มีปัญหาเรื่องตับ ควรงดทานอาหารรสเปรี้ยว
5. สีขาว เช่น ลูกเดือย ผักกาดขาว มะพร้าว น้อยหน่า ถือเป็นสัญลักษณ์ของธาตุโลหะ มีประโยชน์ต่อปอด สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องปอด ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารรสเผ็ด
อย่างไรก็ตาม ผู้ทานอาหารเจ ควรทานอาหารให้ครบทั้ง 5 สี ตามธาตุทั้ง 5 โดยสลับกันไปในแต่ละวัน เพื่อให้ได้สารอาหาร และคุณค่าที่ครบถ้วน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น