วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

โรคตับแข็ง

imagesCAL7KZ7O

ตับแข็ง (cirrhosis) เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาโรคตับเรื้อรังทั้งหลาย ตับของผู้ป่วยที่เป็นโรค

ตับแข็งอยู่ในสภาวะที่เกิดแผลเป็นขึ้นหลังจากที่มีการอักเสบหรืออันตรายต่อตับ ทำให้เซลล์ตับส่วนหนึ่ง

ตายไปโดยไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้อีก เมื่อเนื้อตับส่วนที่ดีถูกทำลาย เนื้อตับที่เหลือจะถูกล้อมรอบและแทนที่ด้วยเนื้อเยื่อประเภทพังผืด ส่งผลให้เลือดที่ไหลผ่านตับถูกอุดกั้น ไหลเวียนไม่สะดวกจนทำให้ความดันเลือดในตับสูงขึ้นผิดปกติ และส่งผลให้สมรรถภาพการทำงานของตับลดน้อยลง

ตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดภายในร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมสภาพร่างกายให้เป็นปกติในหลายๆ ด้านด้วยกัน ช่วยขจัดสารพิษออกจากเลือด สร้างภูมิคุ้มกันบางอย่างขึ้นมาเพื่อต่อสู้เชื้อโรค ตลอดจนกำจัดเชื้อโรคต่างๆ ออกจากเลือด ตับยังทำหน้าที่สร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบในการทำให้เลือดแข็งตัว ตลอดจนสร้างน้ำดี ซึ่งทำหน้าที่ในการดูดซึมไขมันและวิตามินชนิดละลายในไขมัน

สาเหตุ
imagesCAY1WNH8

โรคตับแข็งมักพบในคนที่ดื่มเหล้าจัด หรือพบเป็นอาการแทรกซ้อนของโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส การดื่มสุราติดต่อกันเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี จะทำให้เกิดความผิดปกติของการใช้โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในตับ ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ และเรื้อรังจนกลายเป็นตับแข็งในที่สุด ผู้ป่วยโรคตับแข็งมักจะปรากฏอาการเริ่มแรกในช่วงอายุระหว่าง 40 - 60 ปี แต่ถ้าพบในคนอายุน้อย มักมีสาเหตุจากตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีอาการค่อนข้างรุนแรง

สาเหตุอื่นๆ ทำให้เกิดโรคตับแข็ง ได้แก่
  1. ยาชนิดที่ต้องรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือยาสมุนไพรบางชนิด เช่น ยาเม็ดใบขี้เหล็กซึ่งนิยมใช้เป็นยานอนหลับ เป็นต้น
  2. สารพิษ เช่น สารหนูที่ผสมในยาต้ม ยาหม้อ อาจก่อให้เกิดพังผืดในตับได้
  3. พยาธิบางชนิด เช่น พยาธิใบไม้ในเลือดอาจทำให้เกิดตับแข็ง
  4. ภาวะดีซ่านเรื้อรัง เนื่องจากท่อน้ำดีอุดตัน เพราะโดยปกติน้ำดีจะถูกส่งขึ้นไปที่ตับ และไหลลงมาสู่ลำไส้เล็กส่วนต้นตามท่อน้ำดี ถ้ามีการอุดกั้นการไหลของน้ำดีไม่ว่าจะจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น จากนิ่วน้ำดีอุกท่อน้ำดี หรือ เนื้องอกอุด หรือเบียดท่อน้ำดีจนตีบตันเป็นเวลานาน น้ำดีที่ไหลย้อนกลับไปที่ตับก็จะสามารถทำลายเนื้อตับจนเป็นตับแข็งได้
  5. ภาวะหัวใจวายเรื้อรัง ทำให้เส้นเลือดคั่งที่ตับ เลือดไหลเวียนในตับน้อยลง เนื้อตับขาดภาวะออกซิเจนจนตายลง
  6. โรคกรรมพันธ์บางชนิด เช่น โรควิลสันที่เกิดจากมีการสะสมทองแดงในตับมาก จนเนื้อตับอักเสบและตาย หรืออาจเกิดตับแข็ง เป็นต้น
  7. โรคตับอักเสบจากภูมิต้านทานตนเอง ที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันหันมาทำลายตับตนเอง
  8. โรคตับอักเสบจากไขมัน เกิดจากภาวะที่มีไขมันสะสมที่ตับเป็นจำนวนมาก อาจจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นตับแข็งได้ นอกจากนี้อาจพบร่วมกับโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น


imagesCADVQTZP

อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคตับแข็ง อาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ อาการที่เกิดจากการทำงานของตับลดลง และอาการที่เกิดจากความดันเลือดในตับสูง
  1. อาการที่เกิดจากการทำงานของตับลดลง เช่น อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย จะค่อยๆ เกิดขึ้นโดยไม่ค่อยรู้สึกตัว เริ่มแรกจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องอืดเฟ้อ คลื่นไส้ และอาจมีอาการอาเจียนเป็นบางครั้ง รู้สึกเจ็บบริเวณชายโครงขวาเล็กน้อย หากอาการมากขึ้นจะมีการสร้างโปรตีนลดลงทำให้เท้าบวม มีน้ำในช่องท้องเกิดท้องมาน อาจมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองเป็นดีซ่านได้
  2. อาการที่เกิดจากความดันเลือดในตับสูง เกิดจากพังผืดดึงรั้งในตับ ทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติเกิด เส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการอาเจียนเป็นเลือด เนื่องจากเส้นเลือดที่หลอดอาหารขอดแล้วแตกซึ่งอาจถึงช็อกและเสียชีวิตได้ ในรายที่เป็นมากอาจซึม หรือในระยะยาวอาจเกิดมะเร็งตับได้ ผู้ป่วยมักจะลงเอยด้วยอาการซึม เพ้อ มือสั่น และค่อยๆไม่รู้สึกตัว จนกระทั่งหมดสติ
การวินิจฉัย
imageแพทย์จะซักประวัติหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งและตรวจ ร่างกาย เพื่อหาสิ่งแสดงว่าเป็นตับแข็งหรือไม่ เช่น ตัวเหลืองตาเหลือง ท้องและเท้าบวม ฝ่ามือแดง มีจุดแดง ตามตัวหรือไม่ คลำตับพบว่า ผิวแข็งขรุขระ ขอบไม่เรียบ

โดยทั่วไป อาการแสดงที่ตรวจพบในผู้ป่วยโรคตับแข็ง ได้แก่ เท้าบวม ท้องบวม อาจมีตาเหลืองเล็กน้อยหรือไม่มีก็ได้ ฝ่ามือแดง มีจุดแดงรูปแมงมุม ที่หน้าอก จมูก ต้นแขน อาจมีไข้ต่ำๆ ต่อมน้ำลายข้างหูอาจโตคล้ายคางทูม และอาจมีอาการขนร่วง ในผู้ชายอาจพบอาการนมโตและเจ็บ ตับอาจคลำได้ ค่อนข้างแข็ง ผิวเรียบ ถ้าเป็นมาก จะพบว่ารูปร่างผอมกระหร่อง ซีด ท้องโตมาก เส้นเลือดพองที่หน้าท้อง มือสั่น ม้ามโต นิ้วปุ้ม

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ แพทย์จะเจาะเลือดตรวจการทำงานของตับ ความผิดปกติที่อาจพบได้คือ พบว่า ไข่ขาวต่ำ มีการคั่งของสารในน้ำดีหรือบิลลิรูบิน บางรายอาจตรวจอัลตราซาวน์เพิ่มเติม หรือพิจารณาเจาะเนื้อตับเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา

ภาวะแทรกซ้อน

ภูมิต้านทานโรคลดลงทำให้เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย เช่น วัณโรค ปอดบวม ถ้าเป็นเรื้อรังจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด เนื่องจากเส้นเลือดขอดที่หลอดอาหารเกิดแตกซึ่งอาจช็อกถึงตายได้

ในระยะสุดท้ายเมื่อตับทำงานไม่ได้เลยก็จะเกิดอาการหมดสติเรียกว่า ภาวะหมดสติจากตับเสีย นอกจากนี้ยังพบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งในตับสูงกว่าคนปกติ

แนวทางการรักษา

แม้ว่าจะรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่สามารถชะลอหรือหยุดการดำเนินของโรคได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเซลล์ตับเป็นความเสียหายชนิดถาวร ไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ ดังนั้น หลักการรักษาผู้ป่วยโรคตับแข็ง จึงมุ่งที่จะหยุดหรือชะลอการดำเนินของโรค ช่วยทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น รวมทั้งป้องกันมิให้เกิดอาการแทรกซ้อนขึ้น ถ้าตับแข็งเกิดจากสุรา ต้องให้หยุดสุราเด็ดขาดimagesCAFC2XJV
  1. ตับแข็งที่เกิดจากยา ให้หยุดยาทันที
  2. เกิดจากไวรัสตับอักเสบ พิจารณาให้ยาอินเตอเฟอรอน
  3. ในกรณีที่เป็นโรคตับแข็งจากการอักเสบของตับชนิดออโตอิมมูน การรักษาโดยใช้ยาสเตียรอยด์
  4. ในกรณีที่เป็นโรคตับแข็งจากการสะสมของสารทองแดงในตับ การรักษาจะใช้ยาเฉพาะเพื่อขับสารทองแดงออกจากร่างกาย
การรักษาโรคแทรกซ้อน
  1. อาการท้องมาน และบวมหลังเท้า รักษาโดยลดอาหารเค็ม และใช้ยาขับปัสสาวะเพื่อลดบวม
  2. ถ้ามีคันตามผิวหนัง ให้ลดอาหารพวกโปรตีน และให้ยาแก้แพ้
  3. ลดของเสียไนโตรเจน แพทย์อาจพิจารณาให้ยาระบายเพื่อลดของเสียที่อยู่ในลำไส้ซึ่งจะถูกดูดซึมหากมีมากในลำไส้ รวมทั้งลดอาหารโปรตีนเพื่อลดการคั่งของสารที่เป็นพิษต่อสมอง
  4. ถ้าอาเจียนเป็นเลือดหรือหมดสติให้รีบส่งโรงพยาบาล ถ้ามีอาการช็อก ให้น้ำเกลือระหว่างทางด้วย
  5. พิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่มีการติดเชื้อเกิดขึ้น
  6. การรักษาภาวะความดันเลือดในตับสูง พิจารณาใช้ยาโปรปาโนลอล หรือยาต้านเบต้า
  7. ถ้ามีเลือดออกจากหลอดเลือดขอดในหลอดอาหาร รักษาได้โดยการฉีดสารแข็งตัว การใช้ยางรัด หรือ
    การผ่าตัด
  8. การผ่าตัดเปลี่ยนตับ
image

ผู้ป่วยโรคตับแข็งอาจได้รับการพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนตับ เมื่อโรคดำเนินไปจนถึงระยะที่ไม่สามารถควบคุมโรคแทรกซ้อนได้ หรือพบว่าการทำงานของตับลดน้อยลงมากจนไม่เพียงพอ ทั้งนี้ผลการรักษาด้วยการเปลี่ยนตับระยะหลังดีขึ้นมาก ได้ผลดีถึงร้อยละ 80-90 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้ยา cyclosporine และtacrolimus ร่วมด้วย โดยเฉลี่ยผู้ป่วยโรคตับแข็งที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนตับร้อยละ 80 จะมีชีวิตยาวนานถึง 5 ปี

โภชนาการ
  1. การดูแลภาวะโภชนาการสำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็งมีความสำคัญมาก ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของโรค และ
    การประเมินภาวะโภชนาการของผู้ป่วยแต่ละรายซึ่งอาจไม่เหมือนกัน
  2. โดยทั่วไปอาหารประเภทแป้งจะมีประโยชน์มากกว่าน้ำตาล ควรเน้นการบริโภคคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน
  3. ส่วนอาหารประเภทโปรตีน ควรเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์นมและโปรตีนจากพืช ไม่ควรบริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณที่มากเกินไป ควรรับประทานอาหารประเภทโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสม โดยหากยังไม่มีภาวะตับวายสามารถรับประทานโปรตีนได้ในปริมาณปกติ ในรายที่ตับเสื่อมมากๆ การรับประทานโปรตีนมากเกินไปก็จะเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ทางที่ดีที่สุดควรรับประทานโปรตีนจากพืช เช่น นมถั่วเหลือง เป็นต้น
  4. ผู้ป่วยโรคตับแข็งจะมีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยและดูดซึมไขมัน อาจพบมีไขมันปนออกมาในอุจจาระ แนะนำให้บริโภคไขมันวันละ 40-70 กรัม และควรเลือกไขมันชนิด MCT (medium-chain triglycerides) ข้อดีของไขมันชนิดนี้คือสามารถดูดซึมได้โดยไม่ต้องอาศัยน้ำดี
  5. ผู้ป่วยโรคตับแข็งมักจะเกิดภาวะขาดวิตามิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินที่ละลายในไขมัน A, D, E, K บางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้สารเกลือแร่บางชนิดเสริม ได้แก่ สังกะสี แคลเซียม และแมกนีเซียม
  6. งดอาหารเค็มจัด เพื่อลดอาการบวม สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการบวม
imageที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

เป็นโรคตับจะปฏิบัติตัวอย่างไรดี

คำถามนี้เป็นคำถามที่ผู้ป่วย ซึ่งเป็นโรคตับมักจะถามแพทย์เสมอ นอกจากทานยาตามที่แพทย์สั่งสม่ำเสมอแล้ว ความจริงคำว่าโรคตับมีความหมายค่อนข้างกว้าง อาจจะหมายถึงผู้ที่เป็นพาหะของโรคตับอักเสบบี ซึ่งสภาพตับโดยทั่วไปแล้ว ไม่ได้แตกต่างจากคนปกติทั่วไปเท่าไรนัก ไปจนถึงผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง ซึ่งอาจจะมีอาการดีซ่าน บวม หรือท้องมานก็ได้ ซึ่งหมายถึงมีการเสื่อมสภาพของตับไปมาก สำหรับผู้ป่วยที่เป็นตับแข็ง คงต้องการการดูแลเป็นพิเศษ แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคตับเหล่านี้ พอจะแบ่งออกได้เป็นหัวข้อสำคัญๆ 6 อ. คือ

1. อาหาร
imagesCAYW0GA8

สำหรับผู้ที่เป็นโรคตับเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นพาหะของเชื้อไวรัสบี ผู้ป่วยเหล่านี้สามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิด ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบเฉียบพลัน การรับประทานน้ำหวานมาก ๆ ไม่มีรายงานว่าทำให้การดำเนินของโรคดีขึ้น กว่าการไม่ได้รับประทานน้ำหวาน อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางราย ไม่สามารถบริโภคอาหารได้ เนื่องจากมีคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ในกรณีเช่นนี้การรับประทานอาหาร ที่ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรทพวกแป้ง และน้ำตาล เป็นหลักจะทำให้ย่อยอาหารได้ง่าย และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง สำหรับผู้ป่วย ซึ่งเริ่มมีอาการตับแข็งแล้ว อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคือ อาหารที่มีรสเค็มจัด เนื่องจากการรับประทานอาหารเค็ม สามารถทำให้อาการบวม หรืออาการท้องมานเลวลงได้ โดยทั่วไปแล้วในผู้ป่วยที่มีอาการบวม หรือท้องมาน แพทย์จะแนะนำให้รับประทานเกลือได้ไม่เกินวันละ 2 กรัม หรือเทียบเท่ากับเกลือป่น ประมาณเศษหนึ่งส่วนสามช้อนชาต่อวันเท่านั้น ผู้ป่วยที่เป็นตับแข็ง ควรรับประทานอาหารที่สะอาดปรุงขึ้นใหม่ ไม่ควรรับประทานอาหารที่เก็บค้างคืน หรืออาหารที่ประกอบขึ้นสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น การลวก การย่าง เพราะบ่อยครั้งทีเดียว ที่ผู้ป่วยโรคตับแข็งมาพบแพทย์ ด้วยอาการติดเชื้อจากทางระบบทางเดินอาหาร ซึ่งบางครั้งสามารถเป็นรุนแรงจนเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยตับแข็งที่ไม่มีอาการซึม หรืออาการทางสมอง สามารถรับประทานโปรตีนได้ตามปกติเหมือนกับคนปกติทั่วไป ผู้ที่มีอาการทางสมองร่วมกับภาวะตับแข็ง ผู้ป่วยเหล่านี้ ควรจำกัดปริมาณโปรตีนที่ได้จากสัตว์ อย่างไรก็ตามสามารถเสริมโปรตีนได้ ในรูปของโปรตีนได้ในรูปของโปรตีนจากพืช หรือถั่ว เป็นต้น ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่เป็นผัก และผลไม้ให้เพียงพอ เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการภาวะท้องผูก การรับประทานอาหารเสริมที่เป็นโปรตีนที่มีกิ่ง (Branch Chains Amino Acid) อาจทำให้ภาวะโภชนาการของผู้ป่วยดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม อาหารเสริมดังกล่าวยังมีราคาแพง และทดแทนได้ด้วยการรับประทานโปรตีนจากพืช ปัจจุบันยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนว่า อาหารเสริมต่าง ๆ ที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด จะมีประโยชน์โดยแท้จริงกับผู้ป่วยโรคตับ นอกจากการรับประทานอาหารที่ถูกต้องร่วมกับพืช ผัก และผลไม้ที่สะอาด ในปริมาณที่พอเพียง จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกาย การรับประทานอาหารเผ็ด หรือเปรี้ยวไม่มีผลเสียโดยตรงอย่างไรต่อตับ

2. แอลกอฮอล์
imagesCAFC2XJV

ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มทุกชนิด ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ผู้ที่เป็นพาหะ

ของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อาจจะพบรับประทานได้บ้าง แต่ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบ ชนิดบีแบบเรื้อรัง มีหลักฐานชัดเจนพบว่า การรับประทานแอลกอฮอล์ มีส่วนสัมพันธ์โดยตรง ทำให้การดำเนินของโรคลุกลามเร็วขึ้น ถึงแม้ว่าการสูบบุหรี่จะไม่มีผลโดยตรงกับโรคตับ แต่การสูบบุหรี่มีผลเสียต่อร่างกาย รวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ในการเกิดมะเร็งในหลาย ๆ ส่วนของร่างกาย นอกจากปอด ดังนั้น เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงควรจะงด และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ด้วย

3. อัลฟาท๊อกซิน (Aflatoxin)
imagesCAYX9FOI

สารอัลฟาท๊อกซินเป็นสารที่สร้างจากเชื้อรา Aspergillus ซึ่งเป็นเชื้อราตระกูลเดียวกับ ที่พบตามขนมปังที่เก็บไว้นานๆ นั่นเอง เชื้อรา Aspergillus บางตระกูลสามารถสร้างสารพิษที่เรียกว่า อัลฟาท๊อกซินขึ้น ซึ่งสารพิษนี้สามารถชักนำให้เกิดมะเร็งตับได้ เชื้อราชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในอาหารบางอย่าง ซึ่งเก็บอย่างไม่ถูกวิธี และมีความชื้น เช่น ถั่ว พรกป่น ข้าวโพด ข้าวสารเป็นต้น การศึกษาจากประเทศจีนตอนใต้พบว่า อุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งตับ ในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบแบบบีเรื้อรัง ในหมู่บ้านที่มีสารอัลฟาท๊อกซิน ปนเปื้อนในอาหารสูงกว่า กลุ่มประชากรที่เป็นตับอักเสบบีแบบเรื้อรังที่บริโภคอาหาร ที่ไม่ได้ปนเปื้อน ด้วยสารอัลฟาท๊อกซินอย่างชัดเจน ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารดังที่กล่าวมาแล้ว

4. อารมณ์ และการพักผ่อน
imagesCAF0UED0

บ่อยครั้งทีเดียวทีแพทย์พบผู้ป่วย ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบแบบเรื้อรัง หรือเป็นโรคตับแข็ง ที่มีอาการทั่วไปสบายดีมาตลอด แต่เมื่อผู้ป่วยได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือตรากตรำงานมากเกินไป ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง มีส่วนชักนำให้ตับอักเสบเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการดีซ่าน หรือบางครั้งรุนแรง จนเกิดภาวะตับวายเกิดขึ้นได้ นอกจากการพักผ่อนที่เพียงพอแล้ว การมีจิตใจที่เบิกบานแจ่มใส ก็มีความสำคัญ ทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นด้วย

5. ออกกำลัง
 imagesCA54BTTZ

ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง และมีอาการที่บ่งว่า มีสภาพการทำงานของตับเหลืออยู่น้อย เช่น ดีซ่าน ท้องมาน ผู้ป่วยเหล่านี้ควรงดออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงการเดิน หรือนั่งนานๆ ผู้ป่วยที่มีประวัติเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร ไม่ควรออกกำลังที่จะต้องเบ่ง หรือเกร็งกล้ามเนื้อท้อง เข่น การยกน้ำหนัก เนื่องจากจะกระตุ้นให้ความดันเส้นเลือดขอด ในหลอดอาหารแตกได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นตับแข็งในระยะเริ่มต้น ที่ไม่มีอาการผิดปกติ สามารถออกกำลังได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังที่หักโหม เช่น การวิ่งมาราธอน หรือกีฬาที่ต้องแข่งขัน การออกกำลัง เข่น การเดิน วิ่งเบาๆ ดูจะเป็นการออกกำลังที่เหมาะสม

6. อัลฟาฟีโตโปรตีน
(Alpha feto-protein) เป็นสารซึ่งสร้างขึ้นโดยเซลล์ตับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่มีการแบ่งตัวของเซลล์ตับ เราพบสาร Alpa feto-protein สูงขึ้นในเด็กแรกเกิด อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยซึ่งเป็นมะเร็งตับ อาจมีการเพิ่มขึ้นของ Alpha feto-protein ซึ่งใช้เป็นเครื่องแจ้งเตือนมะเร็งของตับได้ ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ตลอดจนผู้ที่เป็นตับแข็ง ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม ถือว่าเป็นประชากรที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง ในการเกิดมะเร็งของตับได้ทั้งสิ้น การตรวจพบมะเร็งตับในระยะเริ่มต้น สามารถให้การรักษาที่เหมาะสม และมีโอกาสหายขาดได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคตับ ควรมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ตามแพย์นัด และตรวจ Alpha feto-protien ตามที่แพทย์เห็นสมควร

การรับประทานยาในผู้ป่วยโรคตับเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง

เนื่องจากยาหลายชนิดต้องถูกกำจัด โดยผ่านตับการที่ตับมีการทำงานบกพร่อง เนื่องจากโรคต่างๆ เช่น ตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง อาจทำให้มีการสะสมของยาจนเกิดโทษได้ ท่านควรแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอว่า ท่านมีปัญหาโรคตับ เพื่อแพทย์จะได้เลือก ยาที่ปลอดภัยให้ หรือถ้าสงสัยอาจปรึกษาแพทย์ เฉพาะทางดูก่อน ผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง ไม่ควรรับประทานยาลดไข้พวก paracetamol เกินกว่าวันละ 1500 mg หรือทานติดต่อกันนานเกิน 3 วัน อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่เป็นตับอักเสบเล็กน้อย หรือพาหะของตับอักเสบบี สามารถทาน paracetamol ได้ในขนาดปกติ สำหรับยาแก้ปวดนั้น ผู้ที่เป็นตับแข็งควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวด พวกที่เป็นแอสไพรินทั้งหลาย เนื่องจากยากลุ่มนี้ มีผลทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงไตลดลง จนอาจทำให้มีการเสื่อมหน้าที่ของไต หรือไตวายได้ ควรหลีกเลี่ยงไปใช้ยาแก้ปวดกลุ่มอื่นแทน



ถึงแม้ว่าจะมีพืช อาหาร และสมุนไพรหลายอย่าง ที่อ้างว่ามีสรรพคุณป้องกันการเกิด และรักษาโรคตับได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ดีเพียงพอ ที่จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทาน นอกจากนั้น สมุนไพรบางตัวอาจมีผลข้างเคียงต่อตับได้ เช่น บอระเพ็ด ใบขี้เหล็ก จึงควรระมัดระวัง
แหล่งข้อมูล : ชมรมโรคตับแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น