ภูมิหลังคำยืม[/size]
สำเนียงบอกภาษา กิริยาบอกตระกูล ภาษาท้องถิ่นเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการศึกษาวิจัยเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม และพัฒนาเผยแผ่ เพื่อประโยชน์ต่ออนุชนรุ่นหลังต่อไป
วัฒนธรรมภาษาไทยถิ่นภูเก็ตมีหลายหลากมากคำ บ้างเกิดจากวัฒนธรรมภาษาอื่นอันเป็นมรดกภาษาของกลุ่มชนนั้น ๆ แต่ละกลุ่มนิยมใช้คำยืมจากภาษาอื่น ซึ่งอาจเป็นคำยืมโดยตรงจากภาษานั้นหรือคำยืมมาจากภาษาอื่นอีกทอดหนึ่ง
นับตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี จนถึงต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคใต้เป็นจำนวนมาก ทั้งบริเวณฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก จึงเป็นเหตุให้คำภาษาจีนและวัฒนธรรมอื่น ๆ ของจีนเข้ามาปะปนในภาคใต้
ชาวจีนได้อพยพเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต ประกอบอาชีพค้าขายและทำเหมืองแร่ ชาวจีนเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน รองลงมาก็เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว แคะ กวางตุ้ง ไหหลำ ในส่วนของภาษาจีนถือได้ว่า ภาษาจีนฮกเกี้ยนเป็นภาษาสำคัญที่ใช้มากกว่าภาษาจีนท้องถิ่นอื่น
ชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต ส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียมาก่อน และได้รับเอาวัฒนธรรมทางภาษาที่หลายหลากมาเผยแผ่ในจังหวัดภูเก็ต เช่น ภาษามลายู ภาษาอังกฤษ และมีภาษาอื่นปนอยู่ด้วย
โรงเรียนสอนภาษาจีนในจังหวัดภูเก็ต ครูสอนให้อ่านออกเสียงภาษาจีนกลาง(แมนดาริน) คำแปลเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน หรือควบด้วยภาษาไทยกลาง(ภาษาถิ่นกรุงเทพฯ) ตามแต่ภูมิความรู้ของครูผู้สอน เมื่อคนจีนต่างภาษาถิ่นกำเนิดสนทนากันมักใช้ภาษาจีนฮกเกี้ยนเป็นสื่อกลาง ยกเว้นคนจีนในกลุ่มภาษาท้องถิ่นกำเนิดเดียวกัน จึงใช้ภาษาท้องถิ่นกำเนิดของตนเอง
นักเรียนที่ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนสอนภาษาจีน จึงสามารถเรียนรู้ได้หลายภาษา นำไปประยุกต์ใช้ในงานอาชีพได้ คือ ภาษาไทยกลาง ภาษาไทยถิ่นภาคใต้ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีนกลาง ภาษาจีนฮกเกี้ยนและภาษาจีนถิ่นกำเนิดบรรพชน แต่ถ้าบิดามารดาต่างกันในภาษาถิ่นกำเนิด บุตรธิดาก็จะได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งภาษา เช่น บิดามารดามีภาษาจีนถิ่นกำเนิดเป็นภาษาจีนแคะกับภาษาจีนกวางตุ้ง เป็นต้น
ในอดีตคำภาษาไทยถิ่นภูเก็ตที่เป็นคำยืมภาษาจีน มีคำศัพท์และสำเนียงจีนฮกเกี้ยนปนอยู่เกือบทุกประโยค ทั้งผู้พูดภายในและนอกชุมชนชาวจีน
คำศัพท์ในภาษาจีนถิ่นเดิมที่ชาวจีนฮกเกี้ยนใช้พูดกันนั้นย่อมชัดเจนดี แต่ก็อาจเปล่งเสียงเพี้ยนไปบ้าง เมื่อประกอบเป็นคำภาษาถิ่นไทยใต้ เนื่องจากท้องถิ่นกำเนิดเดิมในมณฑลฮกเกี้ยนมีอาณาเขตกว้างขวางมาก ภาษาถิ่นฮกเกี้ยนจึงแตกต่างไปในแต่ละอำเภอ เช่น คำว่า หมู อาจออกเสียงเป็น ตู ตี หรือ ตือ หรือคำว่าปลาหากออกเสียงแล้วอาจเป็นคำแสลงหูในภาษาไทย เป็นต้น
ชาวจีนฮกเกี้ยนเมื่อเปล่งเสียงคำยืมที่มาจากภาษาอื่น เช่น ภาษามลายู หรือภาษาอังกฤษ เป็นต้น ปรากฏว่าเพี้ยนไปจากภาษาเดิมมาก เนื่องจากชาวจีนฮกเกี้ยนรุ่นก่อน ๆ ที่ไม่ได้เรียนพูดภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ จะพูดออกเสียงคำควบกล้ำไม่ได้ แม้กระทั่งออกเสียงพยัญชนะไทยบางตัวก็ไม่ได้ เช่น ด-เด็ก หรือ ร-เรือ เสียงที่เปล่งออกมาเป็น ล-ลิง เป็นต้น
ด้วยสำเนียงจีนฮกเกี้ยนที่พูดกันแพร่หลายในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเพี้ยนไปจากภาษาเดิม ต่อมาคำศัพท์เหล่านั้นได้แพร่หลายกลายมาเป็นคำภาษาถิ่นภูเก็ต
ภาษาถิ่นภูเก็ตจึงเป็นภาษาถิ่นไทยใต้ที่มีเอกลักษณ์โดยเฉพาะซึ่งไม่เหมือนใครมีและไม่มีใครเหมือน.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น